ตำรวจสอบสวนกลาง ฝากเตือน ระวัง! ScamTok ภัยบน TikTok ที่มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา อาจถูกหลอกโดยไม่รู้ตัว

1002

8 มิ.ย. 66 – เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ ScamTok ภัยแฝงบน TikTok ที่ไม่เคยรู้? ระบุว่า

TikTok ที่เป็นแอปโซเชียลที่โตไวที่สุดในยุคนี้ ซึ่งบางคนจับมือถือเป็นอย่างแรกหลังตื่นนอน และวางเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอนด้วยซ้ำ ทำให้บางครั้งเราไม่รู้ตัวเลยว่า มีมิจฉาชีพปะปนเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา

ScamTok หรือ TikTok Scam มิจฉาชีพที่แฝวตัวอยู่บน TikTok มีรูปแบบดังนี้
1. ช่องทางรวยเร็วทันใจ
มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ กูรูเรื่องการลงทุน เจ้าของธุรกิจ หรือแม่ข่ายสินค้า ลงคลิปวิดีโอแผนการช่องทางรวยทันใจ ช่องทางอาชีพรุ่นใหม่รวยเร็ว ซึ่งเป็นเพียงการหลอกลวงผู้คนให้คิดถึงความสำเร็จผลตอบแทนที่ได้รับ หรือถูกหลอกให้ทำงานที่ไม่มีจริง

2. บัญชีธุรกิจปลอม
ด้วยช่องโหว่ TikTok ดังนั้นบัญชีใหม่สามารถเข้าสู่หน้าหลักยอดนิยมได้แบบก้าวกระโดด แค่ตามเทรนด์ที่ถูกต้องหรือใช้เพลงแบ็คกราวด์ยอดนิยม สร้างธุรกิจปลอมชักชวนให้หลงกลลงทุน ซื้อขายสินค้า และหลอกคลิกลิงก์

3. ซัพพลายเออร์ Dropshipping ที่ไม่มีอยู่จริง
การดรอปชิปเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่จริง แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มิจฉาชีพอาศัยช่องโหว่นี้แฝงตัวเข้ามาโดยสวมรอยเป็นซัพพลายเออร์ดรอปชิปและขอชำระเงินล่วงหน้า

4. บัญชีไวรัส TikTok Bot
ส่วนใหญ่เป็นบัญชีบอทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลงทุน ซึ่งบอทเหล่านี้สามารถขึ้นสู่ฟีดของผู้ใช้หลายคนได้ หรือแจกจ่ายลิงก์ที่ติดไวรัส หากเผลอกดลิงก์ก็อาจถูกติดตั้งมัลแวร์

5. แอป TikTok ปลอม
มิจฉาชีพจะแพร่กระจาย TikTok เวอร์ชันปลอม ลงบนสื่อออนไลน์ หรือเป็นลิงก์ให้กดดาวน์โหลด นอกระบบ Store ของโทรศัพท์มือถือ เมื่อดาวน์โหลดแอปเหล่านี้จะถูกดูดข้อมูล เสี่ยงที่จะถูกดูดเงินเกลี้ยงบัญชีได้

6. ซื้อเพิ่มผู้ติดตาม TikTok
ผู้ใช้งานหลายคนอยากให้บัญชีตัวเอง มีคนมากดถูกใจ กดติดตาม หรือมีคนดูคลิปของเราเยอะๆ มิจฉาชีพจึงใช้แนวทางนี้หลอกล่อเหยื่อ เพียงแค่คุณจ่ายเงินมาเราเพิ่มยอดผู้ติดตามให้ บางคนจ่ายเงินไปสุดท้ายหายเงียบผู้ติดตามไม่เพิ่มขึ้น หรือบางรายมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจริง แต่บัญชีที่ติดตามเหล่านั้นก็คือบอทที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่มีตัวตนอยู่จริง ทำให้บัญชีที่เราใช้งานถูกระงับอีกด้วย

7. ระวังการแอบอ้าง
การแอบอ้างบุคคลอื่น บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม หรือแอบอ้างเป็นกูรูในด้านต่างๆ มิจฉาชีพจะใช้รูปภาพและชื่อของบุคคลอื่น หลอกผู้อื่นให้หลงเชื่อว่าเป็นตัวจริง ส่งข้อความให้เหยื่อส่งเงินเพื่อแลกกับโอกาสมีกำไร เช่น หลักสูตรออนไลน์ หรือการลงทุนด้านอื่นๆ

8. RomanceScam
มิจฉาชีพพวกนี้สร้างโปร์ไฟล์ปลอม ขโมยรูปภาพและวิดีโอจากผู้อื่นมาใช้ ให้ดูน่าเชื่อถือเพื่อจะแชทกับเหยื่อในเชิงชู้สาว เมื่อได้รับความไว้วางใจจากเหยื่อ ก็จะขอความช่วยเหลือ ขอยืมเงิน หลอกโอนเงิน หลอกแต่งงาน สร้างเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา

ที่มา : ตำรวจสอบสวนกลาง