เชียงใหม่อัตราป่วย “ไข้เลือดออก” สูง ชี้ อ.เมืองเชียงใหม่ เข้าเกณฑ์ประกาศโรคระบาด เผย 5 อำเภอระบาดมากสุด กำชับทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

1124

สสจ.เชียงใหม่ เผย จังหวัดเชียงใหม่อัตราป่วย “ไข้เลือดออก” สูง ย้ำกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ชี้อำเภอเมืองเชียงใหม่เข้าเกณฑ์ประกาศโรคระบาด เผย 5 อำเภอระบาดมากสุด “เมือง แม่อาย ฝาง เชียงดาว แม่ริม” 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 กรกฎาคม 2566 ว่า พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 2,316 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 117.51 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 3 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี, กลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 5-9 ปี และพื้นที่ได้พบการระบาดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เชียงดาว และ อ.แม่ริม

จากกรณีที่ กรมควบคุมโรค (เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566) ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับ ทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอ ของ 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก ซึ่งจะมีการประกาศหลังจากเฝ้าระวัง จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566

สำหรับจังเชียงใหม่ พบว่า อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์การประกาศโรคระบาด ตามมาตรา 9 พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีตำบลที่มีการระบาดมากกว่า ร้อยละ 40 (ตำบลระบาด หมายถึง พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ โดยมีผู้ป่วยยืนยันอย่างน้อย 1 ราย และจำนวนผู้ป่วยใน 4 สัปดาห์ล่าสุด เกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง บวก ร้อยละ 20 (ผู้ป่วยต่อเนื่อง หมายถึง พบผู้ป่วยรายใหม่ ติดต่อกันนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ โดยไม่มีการทิ้งช่วงของ การพบผู้ป่วยเกิน 28 วัน))

“หากมีการประกาศเป็นพื้นที่ระบาดตามมาตร 9 ก็จะส่งผลให้เจ้าพนักงานโรคติดต่อสามารถเข้าสอบสวน ควบคุมโรคในบ้านผู้ป่วย ชุมชน และสถานที่ที่สงสัยว่าเป็นแหล่งแพร่โรค รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่าง ประชาชนในพื้น ที่ระบาดต้องดำเนินการกำจัด แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถระดมทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ เพื่อใช้ในการดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ ทำให้การควบคุมโรคไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพ สามารถยุติการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” สสจ.เชียงใหม่ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตาม เฝ้าระวัง ควบคุม การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยกำชับให้ทุกพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด และพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ตามเกณฑ์ที่กำหนด เน้นมาตรการในพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะระบาดภายใน 4 สัปดาห์ รวมทั้งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารถึงประชาชน อสม. ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ รวมถึงเร่งรัดพื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอำเภอที่พบการระบาดสูง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่และ อสม. ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้ยุงลายมีที่วางไข่ และฉีดพ่นฆ่ายุงลายตัวเต็มวัย ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทาโลชั่นกันยุง พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น สนับสนุนทรัพยากรในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือ กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 211048-50 ต่อ 110