อุทยานธรณีโคราช ค้นพบฟอสซิลปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่ อายุกว่า 115 ล้านปี ตั้งชื่อ “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” หรือ ปลาภัทราชัน

155

อุทยานธรณีโคราช ค้นพบฟอสซิลปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่ ตั้งชื่อ “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” หรือ ปลาภัทราชัน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ทีมนักวิจัยปลาโบราณ นำโดย ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ค้นพบฟอสซิลปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่จากจังหวัดนครราชสีมา โดยตั้งชื่อว่า “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” (Khoratamia phatharajani) หรือ ปลาภัทราชัน

blank

ปลาโบราณ “โคราชเอเมีย” ถูกค้นพบฟอสซิลเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในหมวดหินโคกกรวด อายุกว่า 115 ล้านปีก่อน จัดเป็นปลาน้ำจืดกระดูกแข็งที่มีก้านครีบ ในวงศ์ Sinamiidae ซึ่งเป็นญาติกับกลุ่มปลาโบว์ฟินที่พบในอเมริกาเหนือในปัจจุบัน พบฟอสซิลเกือบสมบูรณ์ทั้งตัวตั้งแต่ส่วนหัวถึงลำตัว มีเกล็ดแข็งรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนห่อหุ้มลำตัวอันเรียวยาว มีขนาดยาว 16-20 เซนติเมตร โดยมีส่วนหัวยาว 4.5 เซนติเมตร มีฟันทรงกระบอกปลายแหลม บ่งบอกว่าเป็นปลากินเนื้อ โดยมีอาหารเป็นพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอย และตัวอ่อนแมลงในน้ำ

ปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่นี้ ได้ตั้งสกุลตามแหล่งที่ค้นพบ คือ จังหวัดนครราชสีมา หรือมีชื่อท้องถิ่นว่า โคราช (Khorat) รวมกับคำว่า amia เป็นชื่อสกุลของปลาโบว์ฟินในปัจจุบัน ส่วนชื่อสปีชีส์ ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ซึ่งได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” โดยพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลานิล (Nile tilapia : Oreochromis Niloticus) ซึ่งนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ได้ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปี พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ทำให้มีการเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้การศึกษาวิจัยนี้ยังแสดงถึงเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในด้านศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกด้วย

การค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่นี้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของซากดึกดำบรรพ์ยุคครีเทเชียสในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช ซึ่งนอกจากจะค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ อย่างสยามโมดอน ราชสีมาซอรัส สิรินธรนา และสยามแรปเตอร์ ยังค้นพบสัตว์ร่วมยุคอีกกลายกลุ่ม ได้แก่ เต่าจมูกหมูคิซิลคูมีมิส จระเข้แคระโคราโตซูคัส ปลาโบราณโคราชอิกธิส และโคราชเอเมีย สัตว์เลื้อยคลานบินได้ และพืชอีกจำนวนมาก

ภาพและข้อมูล: กรมทรัพยากรธรณี / อดุลย์วิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์