เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียน วิทยาลัย และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

4683

เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียน วิทยาลัย และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่ม 212 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 5 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี ลำปาง และเชียงราย จังหวัดละ 1 ราย ส่วนอีก 207 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด

blank

ขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวน 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์กลุ่มโรงเรียน ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตรวจ RT-PCR และ ATK พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 27 ราย ยอดรวมทั้งหมด 252 ราย , โรงเรียนวชิรวิทย์ ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตรวจ RT-PCR และ ATK พบรายใหม่ 10 ราย ยอดรวมทั้งหมด 19 ราย, โรงเรียนเชียงใหม่มัธยม ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง ตรวจ RT-PCR และ ATK พบรายใหม่ 2 ราย ยอดรวมทั้งหมด 5 ราย , วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการลานนา ชั้น ปวส. แผนกการตลาด วิทยาเขตเจ็ดยอด ตรวจ RT-PCR และ ATK พบใหม่ 1 ราย ยอดรวมทั้งหมด 2 ราย ด้านคลัสเตอร์กลุ่มร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 2 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ร้านเลอเนิร์ฟ คาเฟ่ ตรวจ RT-PCR พบรายใหม่ 1 ราย ยอดรวมทั้งหมด 4 ราย และร้านฮอมบาร์ ตรวจ RT-PCR และ ATK พบรายใหม่ 2 ราย ยอดรวมทั้งหมด 15 ราย และคลัสเตอร์อื่นๆ ประกอบด้วย ลานโม่ข้าวโพด ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ตรวจ ATK พบเพิ่ม 3 ราย ยอดรวมทั้งหมด 4 ราย โดยทีมควบคุมโรคแต่ละพื้นที่ได้ลงควบคุม ป้องกันโรค และคัดแยกกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าตรวจคัดกรอง และให้ทุกกลุ่มเสี่ยงต่ำสังเกตอาการเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์การระบาดในครอบครัวเพิ่ม จำนวน 10 ราย จากทั้งหมด 6 ครอบครัว ส่วนผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อรายก่อนหน้า พบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้พบมากถึง 130 ราย แสดงให้เห็นถึงความไม่ระมัดระวังตัวและไม่ป้องกันตนเองตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด จึงมีผู้ติดเชื้อที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้ามากขึ้น และยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวน และเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 51 ราย

แนวโน้มการติดเชื้อส่วนใหญ่พบเพิ่มในโรงเรียน วิทยาลัย และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น จึงขอให้ทุกโรงเรียนที่เปิดเรียน On Site เคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ และต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษา ส่วนสถานประกอบการต่างๆ ต้องเคร่งครัดในการดำเนินงานตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ทั้งด้านผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม จึงทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงในการลดอาการรุนแรง และเสียชีวิต ลงได้ ดังนั้นการรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะเน้นการรักษาในระบบ Home Isolation (HI) หรือ การแยกกักตัวที่บ้าน โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการประเมินอาการ และความพร้อมด้านที่พักอาศัยโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ก็จะส่งอุปกรณ์การรักษา และยาฟาวิฟิลาเวีย สำหรับการรักษา 5 วันให้ถึงบ้าน และต้องเคร่งครัดในการแยกกักตัวให้ครบ 10 วัน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีผลเป็นลบยังต้องกักตัวเคร่งครัด และสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการให้รีบไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

blank