20 พ.ค. 68 – การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยกรณีตัวอย่างความประมาทจากการฝ่าจุดตัดทางรถไฟ จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 421 (รถไฟฟรีเพื่อประชาชน) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 09.20 น. บริเวณจุดตัดเสมอระดับ ระหว่างสถานีลำชี – สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ทั้งนี้ จากการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ขับรถกระบะมิได้หยุดรถก่อนข้ามจุดตัด แม้จะมีป้ายเตือนและป้ายบังคับ “หยุด” อย่างชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่ประมาท ฝ่าฝืนมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 คือ มิได้ลดความเร็ว หรือหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร ฝ่าฝืนเข้าไปในโครงสร้างรถไฟ ขณะที่พนักงานขับรถไฟได้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ทั้งเปิดหวูดรถไฟ เปิด-ปิดไฟหน้าเพื่อส่งสัญญาณเตือน และใช้ห้ามล้อลดความเร็ว แต่ด้วยระยะที่ใกล้และน้ำหนักของขบวนรถ จึงไม่สามารถหยุดได้ทัน เป็นเหตุให้รถกระบะกระเด็นตกจากทาง ได้รับความเสียหาย ส่วนคนขับบาดเจ็บ และขบวนรถไฟเสียหาย มูลค่ารวมกว่า 2.5 แสนบาท
สำหรับเหตุการณ์นี้ ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำพิพากษาว่า ผู้ขับขี่กระทำความผิดโดยประมาทเพียงฝ่ายเดียว และพนักงานขับรถไฟไม่มีส่วนบกพร่อง จึงพิพากษาให้ผู้ขับขี่รถกระบะ และเจ้าของรถ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย จำนวน 272,615.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 256,587.79 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (30 มีนาคม 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมถึงค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียม 3,000 บาท
การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายสูง การขับรถฝ่าฝืนสัญญาณเตือน หรือไม่หยุดรถตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่เอง แต่ยังอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อระบบขนส่งสาธารณะ การให้บริการของรถไฟ ตลอดจนความปลอดภัยของผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ในขบวนรถอีกด้วย
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่ ซึ่งมิได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนตัว และชีวิตของผู้ขับขี่เท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของการรถไฟฯ ตลอดจนผู้โดยสารในขบวนรถ ซึ่งนำไปสู่ภาระความรับผิดทางกฎหมายที่ผู้ก่อเหตุจะต้องชดใช้ โดยการรถไฟฯ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดในทุกกรณี เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ และความปลอดภัยของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่อย่างสูงสุด
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ตรวจสอบสภาพจุดตัดทางรถไฟให้มีความพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะป้ายเตือนและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ใช้งานได้จริง เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เปิดช่องทางรับแจ้งจุดเสี่ยง หรืออุปกรณ์ชำรุดจากประชาชน และบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความสูญเสียอย่างยั่งยืนต่อไป