รัดเข็มขัด! “สภาพัฒน์” เตือนคนไทยและภาคธุรกิจ ใช้จ่ายระมัดระวัง และรอบคอบ เตรียมรับความเสี่ยงผลกระทบภาษีทรัมป์

167

19 พ.ค. 68 – นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 และแนวโน้มปี 2568 ว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 0.7% เป็นผลมาจากภาคการผลิต และการใช้จ่ายยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะปริมาณการการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.8% และการส่งออกบริการขยายตัว 12.3% เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัว 26.3%

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.89% สูงกว่า 0.88% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 1.01% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 245,300 ล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.4% ของ GDP

ปัจจัยสนับสนุน
1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568
2.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
3.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่อง ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
1.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง
2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
3.ผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
4.ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ขยายตัว เป็นผลมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง โดยในช่วงก่อนเดือน เม.ย. ดัชนีที่เกี่ยวข้องยังปรับตัวดี แต่กลับตกลงช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งระยะข้างหน้ายังไว้ใจไม่ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศ ที่ยังมีความผันผวน และหาข้อยุติไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แม้ตอนนี้จะผ่อนปรนลงแล้วส่วนหนึ่งก็ตาม จึงขอให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ เตรียมตัวรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และประชาชนให้เตรียมความพร้อมเรื่องการใช้จ่ายประจำวัน คงต้องรอบคอบมากขึ้น เพื่อทำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้” นายดนุชา กล่าว