“หมอสุรัตน์” อธิบาย 3 เหตุผล ทำไมกินแบบ IF เสี่ยงตาย มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น แนะทำแต่พอดี

2403

21 มี.ค. 67 – ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเกี่ยวกับการกินแบบ IF ผ่านเพจ “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ระบุว่า

วิจัยใหม่ชี้ กิน IF นานๆ เสี่ยงตายจาก โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากขึ้น กิน IF หรือ Intermittent Fasting คือการกินและอดอาหารเป็นช่วงๆ เป็นที่นิยมเนื่องจาก ทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ โดยกระบวนการทำ IF มีหลายแบบ และแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมได้แก่ การจำกัดเวลาในการทานอาหาร หรือ Time Restricted Eating (TRE)

ในขณะที่การอดและทานอาหารเป็นช่วงแบบนี้ ทำให้เกิดการเผาผลาญและลดปริมาณ calorie และพุ่งเป้าไปที่การลดน้ำหนักและงานวิจัยล่าสุดกลับชี้ให้เห็นว่ามันเกิดผลเสียและเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ในงานประชุม American Heart Association Epidemiology and Prevention/Lifestyle and Cardiiometabolic Health Scientific session 2024 ในเมือง Chicago USA ได้มีงานวิจัยแสดงถึงอันตรายของการทำ IF ชนิดจำกัดการกินอาหารเป็นช่วงเวลาภายใน 8 ชั่วโมง

งานวิจัย ได้เริ่มศึกษาคนจำนวน 20,000 คน โดยอายุเฉลี่ย 49 ปี (แต่นำเอาคนอายุน้อย ตั้งแต่ 20 ปีเข้ามาด้วย) และติดตามไประยะเวลาโดยเฉลี่ย 8 ปี และยาวที่สุด 17 ปี พบว่า ผู้ที่จำกัดการกินอาหารใน 8 ชั่วโมงมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งก็ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด และ โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นสูงถึง 91% และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วและโรคมะเร็งก็จะยิ่งตายจากโรคหัวใจมากขึ้น

และเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่กินแบบปกติคือในช่วง 12-16 ชั่วโมงระหว่างวัน ก็พบว่า คนที่กินอาหารจำกัดใน 8 ชั่วโมง ไม่ได้มีอายุที่ยืนยาวแต่อย่างใด นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ว่า การกินอาหาร IF แบบนี้ แม้ว่าอาจทำให้มีผลดีเช่น ลดน้ำหนักในระยะสั้น แต่ผลในระยะยาวกลับอันตราย

คำอธิบายสำหรับคนที่สงสัยว่า ทำไมการจำกัดการกินอาหารเป็นช่วงเวลาใน 8 ชั่วโมงถึงทำให้มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ก็มีคำอธิบายที่อาจเป็นไปได้
1. ช่วงเวลาที่จำกัดในการกินอาหารทำให้คนรีบกินอาหารในช่วงเวลานั้นมากเกินไป ซึ่งก็อาจจะรวมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย เรียกว่า มีเวลากินน้อย ก็จัดเต็มเหนี่ยว
2. ช่วงเวลาที่อดอาหารที่ยาวนาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และกระตุ้นภาวะเครียดของร่างกาย stress แล้ว เจ้า stress นี้หากเกิดนาน ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด เกิดหลอดเลือด ไม่ยืดหยุ่น จนในที่สุดตีบตันได้
3. การทานเป็นช่วงและไม่ปกติ ทำให้เกิดภาวะ metabolic dysregulation คือ การแปรปรวนของระบบเผาผลาญ ทำให้มีการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่บอกความสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ มันมี confounding factor หรือ ปัจจัยที่คุมไม่ได้เยอะ เช่น ลักษณะอาหารที่รับประทาน คือ คนที่ทำ IF บางคนก็กินเยอะไปในเวลาที่จำกัด คือ เวลามันจำกัดเลยซัดเต็มที่ ทำให้มีการกระตุ้นระบบเผาผลาญเป็นรอบ ๆ เป็น peak ร่างกายเกิดการปรับตัวไม่ดี หรือ ยังมี ปัญหาเรื่อง life style อื่น ๆ อีกด้วย และ ระเบียบวิจัยที่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ดังนั้น หากจะ IF โปรด Healthy life style และทำพอควร ไม่อดจนโหย

สรุป จำกัดระยะเวลากินนานๆ อาจจะโทษ ถึงตายได้นะ หากทำแบบ ไม่รู้สนเหนือสนใต้ แม้ว่างานวิจัย เบื้องต้นจะยังไม่ชัด ทำ IF ก็ควรทำพอดี ไม่โหมเกิน เราทานอาหาร ผัก ปลา ออกกำลัง ดีกว่านะ

ขอบคุณข้อมูล : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์