รัฐบาล ดำเนินมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิง ย้ำความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย

23

รัฐบาล ดำเนินมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิง กำหนดสัญลักษณ์ MFP ยกระดับมาตรฐานการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ย้ำความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขับเคลื่อนมาตรการตรวจรับรองแปลงระบบผลิตอาหารปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) MFP (GAP Monkey Free Plus) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต รวมทั้งผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP อย่างเป็นรูปธรรมและสากล ตอกย้ำ และยืนยันถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตและการแปรรูปมะพร้าวของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม และบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย เดินหน้าตามมาตรการ GAP Monkey free plus เพื่อตรวจรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิต GAP รวมทั้งเพื่อตรวจรับรองว่าแปลงปลูกไม่ได้ใช้ลิงเก็บเกี่ยว โดยนอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว หน่วยงานภาครัฐยังได้วิจัยและคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ได้นำไปเรียนรู้ และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการตรวจประเมินการใช้แรงงานลิงในแปลงเกษตรกรที่ได้การรับรอง GAP มะพร้าวเป็นลำดับแรก และตรวจประเมินแปลงเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการส่งออก โดยเชื่อมั่นว่า จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้า และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการผลิตมะพร้าวในทุกขั้นตอนได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน

ปัจจุบัน มีแปลงที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP MFP เป็นแปลงมะพร้าวแกง 1,372 แปลง รวมพื้นที่ 13,546 ไร่ และแปลงมะพร้าวอ่อน 533 แปลง รวมพื้นที่ 6,597 ไร่ มีเป้าหมายจะตรวจให้ครอบคลุม แปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP แล้วอีกประมาณ 4,526 แปลง 47,125 ไร่ และตรวจให้เกษตรกรและเกษตรกรที่ผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ไว้ภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ (ณ เดือนมีนาคม 2566)

“รัฐบาลประเมินการทำงาน และให้ความสำคัญกับระบบคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงทุกปัญหา อีกทั้งกระแสการบริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดโลก จึงต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว และการส่งออก แก้ไขปัญหาในทุกมิติ เพื่อประโยชน์สู่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร และเพื่อโอกาสยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากล” นางสาวรัชดาฯ กล่าว