ปปง. แจงข้อเท็จจริง! กรณี “นายวิษณุ เครืองาม” นำเงิน 408 ล้าน ส่งคืนให้ประเทศจีน

67

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2558 นายจาง ชิงตวน ผู้กระทำความผิดชาวจีน ได้ก่อตั้งบริษัทที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน หลอกลวงผู้เสียหายชาวจีนว่ามีการสำรวจพบสมบัติชาติอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งปันผลประโยชน์จากสมบัติดังกล่าวให้แก่บุคคลที่สมัครเป็นสมาชิก มีการแสดงหลักฐานเท็จ โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนอัตราสูง ให้แก่สมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และให้สมาชิกชักชวนคนอื่นเข้าร่วมลงทุนลักษณะลูกโซ่ มีผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวจีนจำนวน 33,982 คน กระจายอยู่ใน 30 เมืองทั่วประเทศจีน มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านหยวน โดยพบว่ามีการโอนเงินมายังประเทศไทยประมาณ 650 ล้านบาท

สำนักงาน ปปง. ได้ร่วมมือกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดฐานอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเทมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย มูลค่ากว่า 530 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อปี 2562 ให้คืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และเนื่องจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีแรกของประเทศไทยในการดำเนินการคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายในต่างประเทศที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลไทยนำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายชาวจีน จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งสองครั้งสำนักงาน ปปง. ได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้ผู้เสียหายชาวจีน ตามคำสั่งถึงที่สุดของศาล รวมมูลค่ากว่า 408 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งที่ 2 นายหวัง เสี่ยวหง (H.E. Wang Xiaohong) รัฐมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้แทนรัฐบาลจีนในการรับมอบทรัพย์สิน ณ เรือนรับรองเตียวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และแจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ได้ร่วมหารือความร่วมมือในด้านความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบในการกระชับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดระหว่างประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้น มีวิธีการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การแสวงหาความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านบุคลากร ความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองหน่วยงาน จะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามและตัดวงจรอาชญากรรม รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิดคืนกลับสู่ทั้งสองประเทศ

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. มุ่งมั่นในการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือกับนานาประเทศ ในการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สิน และการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด และหากประชาชนพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่ และ ข้อความ