7 พ.ค. 67 – นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4.51 ล้านโดส ให้กับประชาชนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) การระบาดจะเกิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหากรับเชื้ออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนี้ นอกจากนั้นยังลดความสับสนการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่มีรายงานพบผู้ป่วยต่อเนื่อง และลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่นำมาให้บริการกับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ในปีนี้ยังเป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus; an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus; and a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิผลในการป้องกันและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้
ทั้งนี้ประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษาที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 ได้แก่
1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี)
2. เด็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็มจนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน)
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4. บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
6. โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ สามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ โดยดูรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง (แอปเป๋าตัง) เมนูกระเป๋าสุขภาพ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อความสะดวก ประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถ โทร.นัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อทราบวันเวลาเข้ารับบริการที่แน่นอน
นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงจองสิทธิการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ โดยเลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค ส่วนผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง สามารถโทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน
“สปสช. ขอเชิญชวนประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง มารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย สามารถรับบริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมดลง ขอย้ำว่าวัคซีนมีจำนวนจำกัด ดังนั้นใครที่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ให้รีบมารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว