คุณแม่เตือนเป็นอุทาหรณ์ หลังลูกชาย “ตาเข” ร่วมกับตาขี้เกียจ เหตุมาจากการ “ติดจอ” ตั้งแต่เด็ก

1084

26 เม.ย. 66 – ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี “Fai Asiwan” ซึ่งเป็นคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้โพสต์แชร์ประสบการณ์อาการป่วย “ตาเข” ของลูกชาย ซึ่งได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ ระบุว่า

ได้ออกรพ. แล้วคับ ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้คับ มีแม่ๆหลายคนแชทมาถามอาการน้อง ขอตอบทีเดียวในนี้นะคะ

น้องชินจังมีภาวะตาเขเข้าร่วมกับตาขี้เกียจ หมอบอกสาเหตุเกิดจากการเพ่ง โดยปกติเด็กจะเพ่งเก่งกว่าผู้ใหญ่ แต่เด็กบางคนเพ่งได้มากกว่าปกติ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการติดจอตั้งแต่เด็ก

น้องไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แม่เพิ่งมาสังเกตุเห็นตอนอายุประมาณ 3 ขวบกว่า จึงได้เริ่มค้นหาข้อมูล และพบว่าโรคนี้ไม่สามารถหายเองได้ ต้องได้รับการรักษาโดยการสวมแว่นสายตา และผ่าตัดเท่านั้น ยิ่งปล่อยไว้นาน จนอายุล่วงเข้า 8 ขวบขึ้นไป การรักษามักจะได้ผลช้า ตาอาจจะมัวถาวรหรือบอดสนิทได้

จึงรีบพาน้องปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง หลังได้รับการผ่าตัดดวงตา 1 วัน น้องสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ งดโดนน้ำและขยี้ตา 1 อาทิตย์ ยังคงต้องสวมแว่นสายตาและมาหาหมอตามนัดอย่างต่อเนื่อง

โรคนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเด็กอีกต่อไป เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เด็กถูกเลี้ยงโดยการปล่อยให้อยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน เป็นผลให้โรคที่เข้าใจว่าไกลตัว ขยับเข้ามาใกล้ลูกน้อยมากขึ้น เสียสุขภาพ เสียเวลา และที่สำคัญ ค่ารักษาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้รวมๆ แล้วเกือบแสน หาเงินพาลูกเที่ยวสนุกกว่ามาจ่ายค่าหมอค่ะ

แค่อยากบอกเล่าประสบการณ์ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ครอบครัวที่มีลูกในวัยไล่เลี่ยกันค่ะ จากใจคนเป็นแม่

จากการค้นหาข้อมูล “โรคสายตาขี้เกียจ (Amblyopia)” ทำให้การมองเห็นภาพลดลง เป็นผลจากความผิดปกติของพัฒนาการของการมองเห็นในทารกหรือช่วงวัยเด็ก สายตาขี้เกียจเกิดจากการขนส่งกระแสรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือสมองเพิกเฉยต่อการรับภาพของตาข้างที่ด้อยกว่า ทำให้การมองเห็นของตาข้างนั้นลดลง สายตาขี้เกียจมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 – 7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว การมองเห็นลดลงอย่างถาวร

อาการสายตาขี้เกียจ
– ตาเข
– ตาสองข้างไม่ทำงานประสานกัน
– มีสายตาสั้น ยาว เอียงที่มากเกินไป หรือไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง
– มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะภาพทีมีความละเอียดสูง

ที่มาข้อมูลโรคตาขี้เกียจ : โรงพยาบาลกรุงเทพ