คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะวิธีการคุมกำเนิดและการรับวัคซีนในยุคโควิด-19 สามารถคุมกำเนิดและฉีดวัคซีนไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย หากมีความกังวลสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนได้ทันที

70

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะวิธีการคุมกำเนิดและการรับวัคซีนในยุคโควิด-19 สามารถคุมกำเนิดและฉีดวัคซีนไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย หากมีความกังวลสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนได้ทันที

blank
การคุมกําเนิดมีความสําคัญในการวางแผนครอบครัว ให้แต่ละครอบครัวมีบุตรเมื่อพร้อมและสามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพให้กับสังคมได้ ซึ่งในช่วงที่มีโรคระบาดรุนแรง การคุมกำเนิดก็จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติและมีข้อจำกัดในการดูแลของทั้งแม่และเด็ก ดังนั้นหญิงทั่วไปจึงพึงคุมกำเนิดในช่วงที่มีโรคระบาดรุนแรง ยกเว้นผู้หญิงที่มีข้อจำกัดในการคุมกำเนิด ก็ต้องระมัดระวังขณะตั้งครรภ์อย่างมาก หากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
การคุมกําเนิดในประเทศไทยมีทั้งการคุมกําเนิดแบบธรรมชาติซึ่งมีประสิทธิภาพน้อย นอกจากนี้ยังมีถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ฮอร์โมนเดี่ยว ยาฉีด ยาฝัง แผ่นแปะ ซึ่งในภาวะปกติ แต่ละครอบครัวก็จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาวได้แก่ ยาฉีดทุก 3 เดือน ยาฝังทุก 3-5 ปี และห่วงอนามัยทุก 5 ปี จะช่วยเว้นระยะการเดินทาง ในกรณีที่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง
​ยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยสามารถใช้ในวัยรุ่นและผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีบุตรได้และมีประสิทธิภาพดี โดยมีข้อเสียและผลข้างเคียงน้อย สปสช จึงสนับสนุนยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยในวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ในสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลา 7 ปีก็พบว่า มีกระแสตอบรับที่ดีและความพึงพอใจสูง
​ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศซีกโลกตะวันตก จะมีประชากรส่วนหนึ่งที่มีพันธุกรรมโน้มเอียงให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย เมื่อพบว่า 1 ใน 4 ของคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดลิ่มเลือดขึ้นในร่างกายจากภาวะที่มีปฏิกิริยาของเกล็ดเลือด และการอักเสบของผนังหลอดเลือด ประเทศเหล่านั้นจึงมีความกังวลเกี่ยวกับลิ่มเลือดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยาที่จะมีผลต่อการเกิดลิ่มเลือดในร่างกายเช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่ในคนเอเชียหรือคนไทย มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดน้อยมาก จึงสามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย และเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ก็มีแพทย์คอยดูแลเรื่องยารักษาขณะติดเชื้อ จึงทำให้ข้อกังวลนี้ค่อนข้างน้อย
​สำหรับการฉีดวัคซีนนั้นในแต่ละคนก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป อาจจะมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการอ่อนเพลีย แต่ถ้าผู้หญิงรายนั้นมีอาการปวดประจำเดือนและอ่อนเพลียในช่วงที่มีรอบเดือน เมื่อไปรวมกับอาการอ่อนเพลียจากการได้รับวัคซีน อาจจะทำให้มีอาการมากขึ้น จึงอาจจะต้องรับประทานยาแก้ปวดในช่วงก่อนหรือหลังฉีดยา เพื่อลดอาการข้างเคียงเหล่านี้
​แม้จะมีการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบตะวันตกที่มีประชากรมีโอกาสเสี่ยงลิ่มเลือด ก็ยังไม่พบความสัมพันธ์ของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนกับยาเม็ดคุมกำเนิด และยังไม่มีประเทศใดออกข้อกำหนดให้งดการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก่อนการฉีดวัคซีน ดังนั้นในกลุ่มคนเอเชียหรือไทยที่โดยปกติพบลิ่มเลือดได้น้อยมาก จึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องหยุดยาเม็ดคุมกำเนิด
​ โดยสรุป การคุมกําเนิดมีความสําคัญ ในการวางแผนการใช้ชีวิต และเรามีวิธีในการคุมกำเนิดที่หลากหลายในประเทศไทย ณ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานจากประเทศใดในโลกที่ห้ามคุมกำเนิดวิธีใดๆร่วมกับการฉีดวัคซีน จึงสามารถคุมกำเนิดและฉีดวัคซีนไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรทำการฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดความกังวลขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากมีความกังวลสงสัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิด หรือยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ โดยแพทย์อาจเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นชนิดที่มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้น้อยที่สุด ได้แก่ชนิดที่มี ฮอร์โมนชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว ในรูปแบบยารับประทาน ยาฉีด หรือยาฝัง หรือจะเป็นการคุมกำเนิดแบบชนิดที่ไม่ใช้ฮอร์โมน
ติดตามผ่าน Youtube : https://bit.ly/2V1HMEz
ข้อมูลโดย รศ.พญ.ทวิวัน พันธศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลิ้งค์บทความ : https://www.facebook.com/medcmuth/posts/4197703363601321