พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา ในลำพูนแล้ว 171 ราย ในพื้นที่ อ.ป่าซาง อ.แม่ทา และ อ.เมือง

30240

     พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา (Chikungunya) ที่ลำพูน แล้วรวม 171 คน แยกเป็นผู้ป่วยที่ยืนยันเชื้อแล้ว 4 ราย ผู้ป่วยเข้าข่าย 163 ราย ผู้ป่วยสงสัย 4 ราย อายุต่ำสุด 7 เดือน อายุสูงสุด 85 ปี ในพื้นที่อำเภอป่าซาง แม่ทา และเมืองลำพูน

      สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ รายงานสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา(Chikungunya) ประจำปี พ.ศ. 2562 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 มิถุนายน 2562 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยทั้งหมด 3,794 ราย จาก 27 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 5.8 คนต่อแสนประชากร ในกลุ่มอายุ 25 – 30 ปี 35 – 40 ปีและ 15 – 20 ปี ซึ่งโดยปกติจะพบการระบาดทางภาคใต้มากสุด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พบในกลุ่มอายุ 55 – 60 ปี 45 – 50 ปี และ 35 – 40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ

     ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน รายงานสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา(Chikungunya) ในพื้นที่จังหวัดลำพูน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จำนวน 4 ราย ผู้ป่วยเข้าข่าย 163 ราย ผู้ป่วยสงสัย 4 ราย รวม 171 ราย กระจายในพื้นที่ 3อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอป่าซาง และอำเภอแม่ทา พบผู้ป่วยในทุกกลุ่มอายุ อายุต่ำสุด 7 เดือน อายุสูงสุด 85 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายสุดท้ายที่พบ คือ วันที่ 27 มิถุนายน 2562 จังหวัดลำพูนไม่พบผู้ป่วยใหม่มาเป็นเวลา 2 วัน แล้ว การดำเนินงานควบคุมโรคดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง

     สำหรับอาการของโรคชิคุนกุนยานั้น อาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้และปวดข้อต่อ ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อบวม และมีผื่นขึ้นด้วย ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นหลังจากโดนยุงที่ติดเชื้อกัด 3-7 วัน และอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แบบกึ่งเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง โดยอาการของโรคมักคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ โดยปกติ ผู้ป่วยมักหายขาดจากโรคชิคุนกุนยาภายใน 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อต่อนานหลายเดือนหรือเป็นปี แม้โรคนี้อาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่เกิด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่พบได้น้อย นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วก็มีแนวโน้มที่จะไม่กลับมาติดเชื้ออีกในอนาคต

     อย่างไรก็ตามได้ฝากข้อแนะนำให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตัวแก่ ด้วยการใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำต่างๆอย่างไรก็ตาม นายวิทยา พลศรีลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน มีกำหนดเดินทางมาเพื่อร่วมรายการวิทยุ “มองลำพูน” รายงานสถานการณ์และการควบคุมโรค พร้อมให้คำแนะนำกับประชาชนในการเฝ้าระวังโรค ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดลำพูน ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ในเวลา 13.30 – 14.00 น. ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังได้ผ่านทางคลื่นวิทยุระบบ FM ความ 95.00 MHz หรือ ติดตามผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ ที่ เพจ สวท.ลำพูน FM 95

ข่าวโดย : นันทพร ฝั้นเครือ / สวท.ลำพูน