เชียงใหม่ยังแล้ง ล่าสุดพื้นที่ดอยเต่าปริมาณน้ำยังน่าห่วง หลายหน่วยงานเร่งบูรณาการหาทางแก้ไขปัญหา

1155

เชียงใหม่ยังแล้ง ล่าสุดพื้นที่ดอยเต่าปริมาณน้ำยังน่าห่วง หลายหน่วยงานเร่งบูรณาการหาทางแก้ไขปัญหา

     วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลายแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำอย่างบริเวณอำเภอฮอด อำเภอดอยหล่อ อำเภอดอยเต่า พบว่าปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆที่ไหลผ่านในพื้นที่ได้แห้งขอดกระทบต่อประชาชนในพ้นที่ในการใช้น้ำทั้งน้ำอุปโภคและบริโภคและการเกษตร น้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์แล้ว จนหลายฝ่ายต้องออกมาประชุมเพื่อหารือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

     โดยทางด้าน นายกองโทบำรุงเกียรติ วินัยพานิช นายอำเภอดอยเต่า เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อำเภอดอยเต่าล่าสุดพบว่า แหล่งน้ำธรรมชาติปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง บางจุดแห้งขอด จนส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค ซึ่งในเบื้องต้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการนำรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่ นำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยในระยะยาวจะต้องมีการประชุมเพื่อวางแผนในการจัดการบริหารน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป

     ด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่หลายแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำน้อยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคอื่นๆ ทำได้อย่างยากลำบาก โดยพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราประสบปัญหามีปริมาณน้ำสะสมน้อยมาอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถสนับสนุนน้ำให้กับทุกภาคส่วนได้ตามความต้องการ

     ดังนั้น จึงได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในแต่ละปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ เข้าใจปัญหา เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน และนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่ายได้อย่างดี ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการให้การสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ตามหลักวิชาการ อาทิ การสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำในแหล่งน้ำของภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำในการทำเกษตร หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว เป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นับเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามนโยบายของรัฐบาลที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง