(ประมวลภาพ) เตรียมเปิด “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” แลนด์มาร์คดาราศาสตร์แห่งใหม่ ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในไทย 1 กุมภาพันธ์นี้

7073

(ประมวลภาพ) เตรียมเปิด “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” เชียงใหม่ แลนด์มาร์คดาราศาสตร์แห่งใหม่ ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในไทย พร้อมให้บริการ 1 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นต้นไป

     สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เตรียมเปิดบริการ “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” บนพื้นที่กว่า 54 ไร่ บริเวณ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่ ใหญ่ที่สุดในไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด วันที่ 27 มกราคม 2563 พร้อมให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์นี้ หวังเป็นแลนด์มาร์คทางดาราศาสตร์แหล่งใหม่ ดันเชียงใหม่ขึ้นแท่นเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทยและศูนย์กลางดาราศาสตร์อาเซียน

     โดยทาง สดร. จัดแถลงข่าวพร้อมนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมภายใน “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 54 ไร่ บริเวณ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร

     ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่รองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่ การศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ และการบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร”

ภายใน ประกอบด้วยอาคารและส่วนบริการหลัก ได้แก่

1) อาคารสำนักงานใหญ่ ประกอบด้วย ส่วนงานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติ และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก

2) อาคารปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ห้องปฏิบัติการการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก

3) อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัล 360 องศา ความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ ใหญ่และทันสมัยที่สุด ในภาคเหนือ และส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน อาทิ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ อุกกาบาต ลูกตุ้มเพนดูลัมกับ การพิสูจน์การหมุนของโลก ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เป็นต้น

4) อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เปิดบริการทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม

5) ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง สำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์บริการประชาชน
ในวันที่ 27 มกราคม 2563 สดร. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อย่างเป็นทางการ และพร้อมเปิดบริการประชาชนเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

blank

     “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จะเป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ดาราศาสตร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการดาราศาสตร์ที่สำคัญ ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทยและศูนย์กลางดาราศาสตร์อาเซียน

ในช่วงต้นของการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ กำหนดเวลาการให้บริการ ดังนี้

วันและเวลาทำการ
-นิทรรศการดาราศาสตร์ :  อังคาร – ศุกร์ 09:00 – 16:00 น. เสาร์ – อาทิตย์ 10:00 – 17:00 น.
หยุดวันจันทร์ เปิดให้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

– ท้องฟ้าจำลอง : เรียนรู้การชมท้องฟ้า และดวงดาว 30 นาที ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ 30 นาที อังคาร – ศุกร์ รอบฉาย 11:00 น. และ 14:00 น. เสาร์ รอบฉาย 11:00 น. /14:00 น. / 17:00 น.  อาทิตย์ รอบฉาย 11:00 น. และ 14:00 น.  หยุดวันจันทร์ ค่าเข้าชมท้องฟ้าจำลอง นักเรียน นักศึกษา 30 บาท / บุคคลทั่วไป 50 บาท

-กิจกรรมดูดาว NARIT Public Night ทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดให้บริการช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม

     ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังพิธีเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สดร. ยังมีกิจกรรมพิเศษอีก 2 กิจกรรม ได้แก่ งานเสวนา Into the Unknown ดาราศาสตร์ : ภารกิจค้นคว้าไม่รู้จบ วันที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 18:00-20:00 น. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ พบกับการบรรยายพิเศษและเสวนาของ 2 นักดาราศาสตร์ระดับโลก ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง โจเซลิน เบลล์ เบอร์เนลล์ นักดาราศาสตร์หญิงผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ค้นพบ “พัลซาร์” ในหัวข้อ เราทั้งปวงล้วนเกิดจากธุลีดาว และศาสตราจารย์ มิเชล คราเมอร์ ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หนึ่งในทีมเบื้องหลังความสำเร็จของการบันทึกภาพหลุมดำภาพแรกในประวัติศาสตร์ ในหัวข้อ ถอดรหัสหลุมดำ ดำเนินรายการโดยพิธีกรมากความสามารถ คุณสุทธิชัย หยุ่น เข้าร่วมฟรี! ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าที่ www.facebook.com/NARITpage ลุ้นรับกล้องโทรทรรศน์ภายในงาน

     และวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2563 สดร. กำหนดจัดงาน NARIT AstroFest 2020 มหกรรมดาราศาสตร์ครั้งแรกในไทย รวมหลากหลายกิจกรรมพิเศษทางดาราศาสตร์ สำหรับทุกเพศทุกวัย จัดขึ้นตลอดสองวันสองคืน เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนมาเยี่ยมชมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรก เชิญชวนผู้สนใจ ร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 09.00-22.00 น. มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ

– สนุกกับนิทรรศการดาราศาสตร์ 19 โซนการเรียนรู้

– ท่องเอกภพในท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัล ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในไทp โดยเปิดทดลองให้ชมรอบละ 30 นาที จำนวนวันละ 8 รอบ เวลา 10:00/ 11:00/ 12:00/ 13:00/ 14:00/ 15:00/ 16:00/17:00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดรับบัตรชมก่อนฉาย 30 นาที (ไม่มีการสำรองที่นั่งล่างหน้า)

– เปิดหลังบ้าน ชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง อาทิ วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ มากมาย

– NARIT Family Camp ค่ายครอบครัวดาราศาสตร์เพื่อทุกคนในครอบครัว ครั้งแรกในเชียงใหม่

– Meet the Astronomers ล้อมวงคุยเฟื่องทุกเรื่องที่สงสัยกับนักดาราศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง
ช่วงเวลา 14:00-15:00 น.

– ชมดาวเคล้าดนตรีในสวนสวย ฯลฯ

     เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานที่แห่งนี้ จะไม่เป็นเพียงสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างความตระหนัก ความตื่นตัว สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พัฒนาคนให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุและผล สร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นรากฐานการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป ดร. ศรัณย์กล่าวปิดท้าย

blank blank

เพิ่มเติมดูได้ที่เพจจังหวัดเชียงใหม่

ติดตามเว็บไซต์ CM108 ประจำจะไม่พลาดข่าวสาร