21 ก.ค. 68 – นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักพบการระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 และโรคปอดอักเสบ ซึ่งเชื้อไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็กเป็นหลัก ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล (Digital Disease Surveillance: DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 กรกฎาคม 2568 มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV 1,631 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วย 3 อันดับแรก เป็นกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี จำนวน 1,246 ราย รองลงมา คือ อายุ 5 – 9 ปี 141 ราย และอายุ 60 ปีขึ้นไป 60 ราย
“ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคฯ ของกองระบาดวิทยา พบว่า เชื้อ RSV เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปอดอักเสบรุนแรงในเด็กและผู้สูงอายุ จากลักษณะทางระบาดวิทยาในช่วงปีที่ผ่านมา มักพบโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเดียวกับฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ อาการและการติดต่อมีความคล้ายกัน จึงคาดว่าจะเริ่มมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นไป โดยปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และเชื้อแพร่กระจายได้ง่ายผ่านน้ำมูก น้ำลาย การไอ หรือจาม เช่นเดียวกับโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ อาการของโรคเริ่มต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่หากพบอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หรือหายใจมีเสียงหวีด (Wheezing) หายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง และในเด็กไม่เล่น ไม่ดูดนม ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค เน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 โดยการสร้างความตระหนัก แนวทางการป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนี้
1) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
2) เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม
4) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย
5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย คือ
1) หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน และสวมหน้ากากอนามัย หมั่นทำความสะอาดบ้านเพื่อลดเชื้อ
2) ดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่งไม่เหนียวจนเกินไป
3) หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว