21 พ.ค. 68 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
นายอนุทิน เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมต่อทุกสถานการณ์ภัยพิบัติ ด้วยการยกระดับมาตรฐานการรับมือกับภัยพิบัติในหลายรูปแบบอย่างเป็นพิเศษ เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการพัฒนานวัตกรรม การประสานความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เชื่อมโยงการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. เพื่อประชาชน โดยตั้งมีการตั้งคณะทำงาน การปฏิบัติงานด้วยรถ Mobile War Room ที่ติดตั้งระบบติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ThaiWater สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ใช้งานได้สะดวก เข้าถึงได้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดจัดตั้งขึ้น และพร้อมจะขยายผลให้ครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด และเสริมศักยภาพให้ท้องถิ่นสามารถใช้ข้อมูลประกอบการวางแผน ติดตามสถานการณ์ และตัดสินใจทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตได้อย่างเหมาะสม สามารถสั่งการและแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทุกท่านมั่นใจว่า เรามีการขับเคลื่อนพัฒนาการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย นวัตกรรม และภาคปฏิบัติ” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม ป้องกัน และกำหนดมาตรการเพื่อรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2568 โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม และประสานงานสั่งการไปในระดับพื้นที่ด้วยความรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการการทำงานผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน/น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที พร้อมตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้มีความพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย และร่วมกันสร้างการรับรู้ให้ประชาชนผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร และเมื่อเกิดเหตุ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรพกำลังให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกด้าน และดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วและทั่วถึง
“ในส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับผู้บริหาร อปท. วางแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวม เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำของประเทศไทย ด้วยการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ไร่นา สวนผลไม้ของประชาชน นับเป็นการเสียสละอันใหญ่หลวงอย่างแท้จริง จึงต้องมีการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย โดยควรจะได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับเรื่องความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีการร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่” โดยภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ และมีการนำเสนอการคาดการสถานการณ์น้ำ การนำเสนอการแจ้งเตือนสาธารณภัยด้วยแอปพลิเคชัน การเตรียมความพร้อม การแจ้งเตือน การใช้ Application Thai Disaster Alert ในการรองรับสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ