กกพ. ตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 67 ค่าเอฟทีเก็บเท่าเดิม 39.72 สตางค์/หน่วย เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย

51

27 มี.ค. 67 – นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567
(ครั้งที่ 900) วันที่ 27 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มีนาคม 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น โดยสามารถสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นสัดส่วนร้อยละได้ ดังนี้

เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 165.24 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวนร้อยละ 4.1
เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 55.72 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวนร้อยละ 5.4
เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 39.72 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวนร้อยละ 32.0
ข้อเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือกรณีศึกษา จำนวนร้อยละ 34.0
ข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟที จำนวนร้อยละ 24.5

นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย”