(มีคลิป) “ทนายรณณรงค์” ชี้ นายจ้างไม่มีสิทธิไล่ออก กรณีลูกจ้างขอลาแม่เสียชีวิต เว้นแต่ขาดงานติดต่อกัน 3 วันโดยไม่แจ้ง แนะรอฟังความทั้ง 2 ฝั่ง

19

จากกรณีที่มีสาวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องราวการขอลางานจากหัวหน้างาน เนื่องจากต้องการไปดูใจคุณแม่ที่กำลังจะเสียชีวิต แต่กลับถูกให้ไปเขียนไปลาออก ซึ่งได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น (วิจารณ์สนั่น! สาวขอลางาน เพราะคุณแม่เสียชีวิต แต่หัวหน้าไม่ให้ลา แถมไล่ให้ไปลาออกหลังทำธุระเสร็จ)

ล่าสุด ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ออกมาแสดงความคิดทางด้านกฎหมายเรื่องนี้ ระบุว่า สำหรับผู้เสียหายเป็นหญิงสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาทำงานที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ที่เขาใหญ่ ซึ่งหญิงได้ส่งข้อความผ่านทางไลน์ไปยัง HR ของที่ทำงาน เพื่อขอลาหยุด ซึ่งลาวันแรก เพื่อพาแม่ไปฉีดยา ซึ่งฝ่ายบุคคลโรงแรมก็ให้ลาได้ และวันที่ 2 หญิงสาวรายนี้ ก็ได้ส่งข้อความไปขอลาอีกครั้งเนื่องจากแม่มีอาการแย่ลง ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไม่พ้นวันนี้ แต่ปรากฏว่าฝ่ายบุคคลไม่ยอมให้ลา โดยบอกกับเธอว่าถ้าจะลาพรุ่งนี้ให้มาเขียนใบลาออกเลย

ทนายรณรงค์ เผยต่อว่า ขณะที่สังคมมองเรื่องนี้ว่า ทำไมฝ่ายบุคคลของโรงแรมจึงไม่มีความเมตตา ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์โลกทั่วไป พ่อแม่เจ็บป่วย หรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต ก็ต้องมีสิทธิไปดูแลรักษา พร้อมตั้งคำถามกลับไปว่าหากฝ่ายบุคคลเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน จะทำอย่างไร

หากมองในแง่กฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สังคมอาจจะเห็นใจลูกจ้าง แต่กติกาได้ระบุไว้ว่า การลากิจ ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี คือนายจ้างต้องให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ แต่การลากิจไม่ได้แปลว่าการส่งข้อความไปแจ้งแล้วจะหยุดได้ทันที ซึ่งคำว่าลา ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติด้วย หากนายจ้างอนุมัติ จึงจะลากิจได้ เพราะการลากิจนั้นได้ค่าจ้าง แต่การขอลากิจแล้วไม่ให้ลา แต่ให้ไปลาออกเลย เรื่องนี้ในทางข้อกฎหมาย ระบุไว้ว่า หากลูกจ้างลาไม่ได้ หยุดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่ติดต่อนายจ้างเลย ลักษณะนี้นายจ้างมีสิทธิไล่ออก แต่กรณีนี้หากลา 1 วัน พาแม่ไปหาหมอ และแม่เสียชีวิต เท่ากับว่าขาดงานแค่ 1 วัน จะให้ลาออกไม่ได้ การให้เขียนใบลาออก ถือเป็นการบีบบังคับลูกจ้าง แต่หากมองในมุมของนายจ้าง หากนายจ้างเจอแต่ลูกน้องที่ลาบ่อยๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

ตนเองในฐานะเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากเข้าไปพักโรงแรมหรู ก็อยากจะให้ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป กระจายไปถึงลูกจ้าง แต่หากโรงแรมหรูแห่งนี้ มีฝ่ายบุคคลที่บริหารแบบนั้นจริง ตนเองก็จะเป็นลูกค้าคนนึงที่ไม่ไปใช้บริการ ทางโรงแรมควรออกมาชี้แจงว่าสาเหตุมันเกิดอะไรขึ้น จะได้เข้าใจในมุมของนายจ้างด้วย

รถทัวร์ที่กำลังไปลงนายจ้างก็อยากให้ฟังคำอธิบายก่อน อาจจะมีบางเหตุผลก็ได้ คนเราเวลาโพสต์ก็จะโพสต์ในมุมของตัวเอง ต้องดูเรื่องนี้กันต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการลากิจสามารถลาได้อย่างต่ำ 3 วันต่อปี แต่ต้องขอนายจ้างให้อนุมัติก่อน แต่หากขาดติดต่อกัน 3 วัน สามารถไล่ออกได้ทันที

dW44Wqb.jpeg

ขอบคุณข้อมูล/คลิป : เฟซบุ๊ก ทนายคู่ใจ