มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผนึกกำลัง เอไอเอส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ตั้งเป้ายกระดับทักษะพลเมืองดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันภัยไซเบอร์

48

12 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี  มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ AIS โดย นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคเหนือ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย  การดำเนินโครงการการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และนักเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านแพลตฟอร์ม LearnDi for Thais โดยความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การขยายผลการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ผ่านเนื้อหา 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ประกอบด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม

blank

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี  มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มีแผนในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการร่วมบูรณาการองค์ความรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้ สอดคล้องกับแนวทางการผลิตนักศึกษาให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีทักษะความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ในยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย มหาวิทยาลัยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมขับเคลื่อนการยกระดับทักษะทางดิจิทัล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ พร้อมขยายผล สนับสนุนให้ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รวมถึงนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เรียนรู้ในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์และเกิดภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”

blank

ด้าน นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) กล่าวว่า “นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารอัจฉริยะให้มีความพร้อมรองรับการใช้งานของลูกค้าและคนไทยแล้ว ภารกิจของ AIS ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกันออกแบบเนื้อหาให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย เพื่อเป็นสื่อกลางปลูกฝังและเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ที่ผ่านมาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าถึงคนไทยไปแล้วกว่า 224,886 คน และล่าสุด “อุ่นใจ Cyber” ได้รับรางวัล WSIS Prize 2023 โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ UN สะท้อนการทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัล และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน เพื่อร่วมสนับสนุนให้เกิดการใช้งานดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบและเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้กับคนไทย”

blank

ซึ่ง AIS จะมุ่งมั่นเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้น การทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในครั้งนี้ จะสามารถขยายผลการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้เข้าถึงอาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และนักเรียนโรงเรียนในสังกัดอย่างเป็นระบบ ผ่านการสื่อสารสร้างองค์ความรู้ช่องทางต่าง ๆ โดยการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานจะช่วยทำให้เป้าหมายการทำงานที่ทั้งสององค์กรมีร่วมกัน คือมุ่งลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน นายอาทยา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฯ ได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และผู้บริหาร สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเอื้องสายส่องแสง อาคารสำนักดิจิทัลเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พื้นที่เวียงบัว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

blank