นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ร้อยละ 59.08 พอใจกับผลการเลือกตั้ง หากต้องเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 86.49 บอกจะเลือกเหมือนเดิม

31

22 พ.ค. 66 – ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชาชนพอใจกับผลการเลือกตั้งหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจผลการเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.08 ระบุว่า พอใจมาก รองลงมา ร้อยละ 26.87 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 8.86 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 5.19 ระบุว่า ไม่พอใจเลย

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.39 ระบุว่า พอใจมาก รองลงมา ร้อยละ 30.07 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 6.95 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 3.59 ระบุว่า ไม่พอใจเลย

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนจะทำ หากวันนี้จะต้องไปลงคะแนนใหม่อีกครั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 86.49 ระบุว่า เลือกเหมือนเดิมทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ รองลงมา ร้อยละ 6.03 ระบุว่า เลือกใหม่หมดทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 3.13 ระบุว่า เลือกเหมือนเดิม เฉพาะ ส.ส. แบบแบ่งเขต ร้อยละ 2.37 ระบุว่า จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และร้อยละ 1.98 ระบุว่า เลือกเหมือนเดิม เฉพาะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.11 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.05 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.98 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.89 สมรส และร้อยละ 3.13 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.18 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.17 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.49 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.66 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.39 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.41 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.69 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.82 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.95 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.47 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.27 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 21.91 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 31.07 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.01 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.59 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 3.74 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.93 ไม่ระบุรายได้

ที่มา : nidapoll

blank