สุดล้ำ! นักวิทย์ญี่ปุ่น สร้างลูกหนู จากหนูตัวผู้ 2 ตัว ความหวังใหม่คู่รักเพศเดียวกัน

63

11 มี.ค. 66 – ฮายาชิ คัตสึฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยคิวชู ผู้บุกเบิกด้านการสร้างไข่และสเปิร์มในห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า นี่เป็นกรณีแรกของการสร้างไข่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแรงจากเซลล์เพศชาย โดยปกติ เพศของสิ่งมีชีวิตจะถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศซึ่งจะมีอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายสิ่งมีชีวิต เพศชายจะเป็นโครโมโซม XY ส่วนเพศหญิงจะเป็นโครโมโซม XX

ในการทดลอง ทีมวิจัยได้อาศัยการเปลี่ยนโครโมโซม XY ในเซลล์ของผู้ชายให้เป็น XX ของผู้หญิงซึ่งทำได้ด้วยการ ตัดโครโมโซม Y ออก และ “ยืม” โครโมโซม X จากเซลล์อื่นมาเข้าคู่

จากนั้นเซลล์ที่ได้รับการแก้ไขให้มีโครโมโซม XX จะถูกนำไปฝังไว้ในรังไข่จำลอง ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อจำลองสภาวะภายในรังไข่ของหนู เมื่อไข่ที่มาจากเซลล์ผิวหนังหนูตัวผู้ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มปกติ ผลปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ ได้รับตัวอ่อนหนูประมาณ 600 ตัว

ตัวอ่อนถูกนำไปใส่ในหนูตัวเมียให้อุ่มบุญแทน ท้ายที่สุดมีลูกหนูคลอดออกมา 7 ตัว หรือก็คือมีโอกาสประมาณ 1% ที่ตัวอ่อนจากวิธีนี้จะกำเนิดเกิดมาได้สำเร็จ ขณะที่ไข่จากเพศหญิงปกติที่นำมาฝังอุ้มบุญ จะมีโอกาสสำเร็จอยู่ที่ 5% หนู 7 ตัวที่เกิดมานี้มีสุขภาพแข็งแรงดี มีอายุขัยปกติ และสามารถมีลูกได้ตามปกติ ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นการปูทางไปสู่โอกาสในการรักษาภาวะมีบุตรยาก และการให้กำเนิดลูกของคู่รักเพศเดียวกันในอนาคต

ก้าวต่อไปคือทดลองสร้างไข่โดยใช้เซลล์ของมนุษย์ โดยฮายาชิคาดหวังว่า การสร้างเซลล์ไข่จากเซลล์ผู้ชายน่าจะเป็นไปได้จริงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า แต่ก็อาจใช้เวลามากกว่านั้น

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การนำเทคนิคเดียวกันนี้มาใช้กับมนุษย์ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเซลล์มนุษย์ใช้เวลานานกว่าที่เซลล์ไข่จะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนที่พร้อมให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ไม่ต้องการ

ที่มา : The Guardian