สธ.ชวนคนไทยปั๊มลูก หลังเด็กเกิดใหม่ปีนี้ต่ำกว่า 6 แสน 

2529

สธ.ชวนคนไทยปั๊มลูก หลังเด็กเกิดใหม่ปีนี้ต่ำกว่า 6 แสน ภายใต้โครงการ “Smart Family Planning for Women”

จากการที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านประชากร โดยในด้านโครงสร้างนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2580 สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมไทยจะมีจำนวนราวร้อยละ 30 ของประชากร ทั้งนี้ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ต่ำกว่าระดับทดแทนมาเป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลให้จำนวนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

และในปี 2563 ที่ผ่านมาก็พบว่ามีจำนวนการเกิดรวมเพียง 587,368 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดรายปีที่ต่ำ กว่า 600,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นด้านคุณภาพประชากรก็เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นด้านโครงสร้างประชากร โดยสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานพร้อมประกาศเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายประชากรที่นำไปสู่การสร้างสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงปาฐกถาที่จะยกระดับครอบครัวคุณภาพและโครงสร้างประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน โดยมีใจความว่า “หัวใจของการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้พวกเราทุกคนในที่นี้ มีหน้าที่ มีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างครอบครัวคุณภาพสู่สังคมแห่งความยั่งยืน และผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นการทำงานภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของไทย ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ประชากรที่เกิดในยุค “เบบี้บูม (Baby Boom)” กลายเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.53 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน ส่งผลให้อัตราพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อปรับ – เปลี่ยน – ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน จึงเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ดังนี้ 1) ปรับทุกนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร และการเกิดทุกราย มีการวางแผนมีความตั้งใจและมีความพร้อมในทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ในส่วนถัดมา คือ 2) เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวและสถาบันครอบครัว โดยส่งเสริมให้คนโสด มีช่องทางได้พบปะกันเพื่อส่งเสริมการมีคู่ ใช้ชีวิตคู่ และมีบุตร รวมทั้งสนับสนุนมาตรการและสวัสดิการที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว อาทิ การตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร การดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การรับยาเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เป็นต้น ซึ่งการสร้างสังคมที่น่าอยู่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวมิใช่หน้าที่ของภาครัฐเท่านั้น แต่ควรเกิดจากความส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคมและ 3) ปั้นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลความรู้และอนามัยการเจริญพันธุ์ ส่งตรงถึงมือกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยส่งเสริมให้ประชาชนที่ต้องการมีคู่และมีบุตร เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรที่สะดวก เข้าถึงง่าย ผ่านเว็บไซต์วิวาห์สร้างชาติ (www.wiwahproject.com) ส่วนวัยรุ่นและเยาวชนใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล “Line Official Teen Club” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ข้อมูลสิทธิประโยชน์ของวัยรุ่นไว้ ณ จุดเดียวกัน โดยใช้งานผ่าน Smart Phone” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ด้วยการดูแลสุขภาพของประชาชนตลอดชีวิต ได้เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนนี้ในประเด็นการวางแผนครอบครัว โดยมุ่งเพิ่มอัตราการเกิดโดยสมัครใจ ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้การเกิดทุกรายมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตรกรณีมีบุตรยาก การส่งเสริมให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี และเด็กได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีคุณภาพเอื้อต่อการเจริญเติบโต มีพัฒนาการสมวัย ทั้งนี้ การลดปัญหาการเกิดน้อยและด้อยคุณภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพประชากรและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมรับทราบถึงปัญหา เกิดความตระหนัก และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในสังคม จึงจะทำให้เกิดพลังและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทุกมิติและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

ข้อมูล : กรมอนามัย