กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหารรับประทาน อาจเป็น “เห็ดพิษ” เสี่ยงเสียชีวิตได้

70

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหารรับประทาน อาจเป็น “เห็ดพิษ” เสี่ยงเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนจึงเริ่มเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งเห็ดที่เก็บมาอาจเป็นเห็ดพิษ เพราะเห็ดพิษที่ขึ้นปะปนกันอาจมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่กินได้จนไม่สามารถแยกได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แนะหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษไม่ควรนำมาปรุงอาหาร

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ด จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–2 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 61 รายยังไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ มากกว่า 65 ปี  รองลงมาคือ 35-44 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ศรีสะเกษ ภูเก็ต อุบลราชธานี สมุทรปราการ และพะเยา ตามลำดับ  ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 3,170 ราย เสียชีวิต 9 ราย

เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหินเห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถกินได้แต่แตกต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน และเมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน นอกจากนี้ ยังมีเห็ดถ่านเลือด ที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่รับประทานได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้มเมื่อผ่าดอกเห็ดดู ที่มีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อ และทำให้ตับไตวายซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงเห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินดำ นั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้วเช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังกินเห็ด อย่าล้วงคอและให้กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการให้กินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก และอื่นๆ ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422