(มีคลิป Video) “น้องฮับ” เด็กเชียงใหม่สุดเก่ง คิดค้นเครื่องช่วยฟัง ทำให้เด็กหูหนวกได้ยินและพูดคำว่า “พ่อ” ได้

11056

“น้องฮับ” เด็กเชียงใหม่สุดเก่ง คิดค้นเครื่องช่วยฟัง ทำให้เด็กหูหนวกได้ยินและพูดคำว่า “พ่อ” ได้ โดย น้องฮับ ติด 1 ใน 20 คน ผ่านเข้ารอบติดสิน Google Science Fair อีกด้วย

     น้องฮับ หรือ ด.ช.เหมวิช วาฤทธิ์ อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ นักเรียนโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ผู้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน ได้นำเครื่องดังกล่าวไปออกรายการ ซูเปอร์เท็น ทางช่อง เวิร์คพอยท์ โดยได้มีการนำมาทดลองกับเด็กที่พิการหูหนวก

     โดยปกติเครื่องช่วยฟังทั่วไปจะขยายเสียงให้คนหูหนวกได้ยิน แต่จะได้ยินไม่ชัดหรือไม่รู้เรื่อง เนื่องจากจะเป็นการขยายเสียงโดยรอบทั้งหมด ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง โดยปกติเสียงคนสนทนาทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20 เดซิเบล แต่คนที่หูหนวกนั้น ถ้าอยากได้ยินจะต้องขยายเสียงให้ดังถึง 90 เดซิเบล ซึ่งเครื่องเครื่องช่วยฟังทั่วไปนั้นสามารถทำได้ แต่ก็ขยายเสียงโดยรอบไปด้วยทำให้ฟังไม่รู้เรื่องนั่นเอง

     น้องฮับ จึงได้ประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังนี้ขึ้นมา จากวัสดุเหลือใช้ภายในบ้าน นำมาทำเป็นเครื่องช่วยฟังที่สามารถทำให้คนหูหนวกได้ยินเสียงพูดอย่างชัดเจน โดยในรายการได้มีการนำเด็กที่หูหนวกจริงๆมาทดสอบ โดยลองเปิดคำว่า “พ่อ” ให้เด็กคนดังกล่าวฟัง เด็กคนดังกล่าวก็สามารถพูดคำว่า “พ่อ” ตามได้อย่างชัดเจน ทำให้ทุกท่านที่ได้ชมต่างประทับใจเป็นอย่างมาก และชื่นชมในความสามารถและความเก่งของน้องฮับ ที่อยากจะช่วยเหลือผู้การพิการทางการได้ยิน

     โดยน้องฮับ เป็นตัวแทนเด็กไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติด 1 ใน 20 คนทั่วโลกที่ผ่านเข้ารอบติดสิน Google Science Fair ด้านน้องฮับ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก ที่ตกอยู่ในสภาวะสื่อสารด้วยการพูดคุยไม่ได้และอยากช่วยเหลือ ขณะเดียวกันคุณครูที่โรงเรียนมาบอกว่า มีโครงการ Google Science Fair จึงมีแนวคิดที่อยากช่วยเหลือคนพิการทางหู และได้จัดทำโครงงานขึ้นมา และนำไปสมัครโครงการดังกล่าวจนสามารถเข้ารอบ 20 คนสุดท้าย

      ด้าน เด็กชาย เหมวิช วาฤทธิ์ หรือน้องฮับ กล่าวว่า การได้ยินเสียงถือว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก และตอนที่เรียนอยู่ ก็มีครูที่โรงเรียนมาบอกว่า มีโครงการ Google Science Fair ซึ่งผมมีแนวคิดที่อยากช่วยเหลือคนพิการทางหู จึงได้คิดทำโครงงานนี้ขึ้นมาโดยเขียนโปรแกรมและประดิษฐ์ผลงานนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเข้าประกวดกับโครงการดังกล่าว แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็ได้นำแนวคิดนี้มาปรึกษาครอบครัว ประกอบกับเคยได้พูดคุยกับคนที่พิการทางหู เขามีน้ำเสียงที่ฟังดูเบา เหมือนไม่มีแรงและเสียงต่ำ จึงน่าจะทำให้คนเหล่านี้หลีกเลี่ยงการพูดและนำภาษามือมาใช้ในการสื่อสาร และมีอยู่วันหนึ่งขณะที่ตนกำลังเล่นกีตาร์ แล้วตนไม่ได้ต่อแอมป์ที่เป็นตัวขยายเสียง และเสียงโทรทัศน์ที่เปิดก็ดังกล่าว ทำให้เสียงกีตาร์ตนเบามาก ขณะนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ได้เอาคางไปแตะที่ตัวกีตาร์เพื่อจะฟังเสียง ปรากฏว่าเสียงดังขึ้น ชัดเจนขึ้น ตนจึงเกิดแนวคิดว่า อาจจะนำมาใช้กับคนที่พิการทางหูได้ จึงได้นำมาพัฒนาโปรเจคการทำเครื่องช่วยฟัง และการพัฒนาโปรแกรมฝึกการออกเสียงพูดขึ้น