กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็น เก็บภาษีเดินทางออกนอกประเทศ ทางอากาศ ครั้งละ 1,000 บาท และทางบก/น้ำ ครั้งละ 500 บาท

147

8 พ.ค. 66 – กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่างๆ

กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อพระราชกำหนดฯ ตามแบบฟอร์มการให้ความเห็นต่อพระราชกำหนดฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2566

พระราชกําหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร กําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท และได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ดังนี้ การเดินทางโดยทางอากาศ ครั้งละ 1,000 บาท/คน, การเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำ ครั้งละ 500 บาท/คน

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี มีลักษณะดังนี้
1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย หมายถึงคนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือเกิดนอกประเทศไทยก็ตาม และรวมถึงผู้ที่ขอแปลงสัญชาติเป็นคนไทยด้วย
คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร คือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศไทย แต่หากเป็นกรณีที่คนต่างด้าวที่เข้ามาประเทศไทยเป็นการชั่วคราวหรือระยะยาว หากไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการเดินทาง

2. เป็นผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หากเป็นการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีการเดินทาง
การเก็บภาษีการเดินทางนี้ถ้าเข้าลักษณะตาม 1. และ 2. แล้วจึงจะต้องเสียภาษีการเดินทางทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้เดินทางจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือเป็นข้าราชการที่เดินทางไปราชการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางเพราะเหตุใดๆ จะต้องเสียภาษีการเดินทาง เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามกฎหมาย

รายละเอียดฉบับเต็ม https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/Hearing030566-170566.pdf

ล่าสุด กรมสรรพากร ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าว กรณีกรมสรรพากรเตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปต่างประเทศ และคนละ 500 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถยนต์หรือเรือ อันเนื่องมาจากการที่กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ระหว่างวันที่ 3-17 พฤษภาคม พ.ศ.2566 นั้น

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ได้รับทราบและเห็นชอบการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2534 (อ้างอิงกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร) พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว”

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายในปี พ.ศ.2567 กรมสรรพากรต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161 www.rd.go.th

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ