ผู้นำม่อนแจ่ม โต้ปมสาเหตุชาวบ้านปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ถูกบุกค้นบ้านไม่มีหมาย จนชาวบ้านถูกมองว่าผิด เผยถูกหน่วย SWAT พร้อมอาวุธครบมือปิดล้อมหมู่บ้านในวันเกิดเหตุ

2283

ผู้นำม่อนแจ่ม โต้ปมสาเหตุชาวบ้านปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ถูกบุกค้นบ้านไม่มีหมาย จนชาวบ้านถูกมองว่าผิด เผยถูกหน่วย SWAT พร้อมอาวุธครบมือปิดล้อมหมู่บ้านในวันเกิดเหตุ

วันที่ 15 ม.ค.65 รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีวันที่ 12 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทำการปิดล้อมเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ไม่ยอมให้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ตรวจสอบเก็บข้อมูลการก่อสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่จำนวน 5 หลัง บริเวณบ้านหนองหอยใหม่ หมู่11 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งเหตุการณ์บานปลายหนักจนต้องส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านนานหลายชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันดังกล่าว และกระทั่งชาวบ้านยอมสลายตัวในช่วงค่ำคืน เวลาประมาณ 22.00 น. ของวันเกิดเหตุ ขณะที่ต่อมาหลังกรณีกระแสข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปแล้วนั้น ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กับทางชาวบ้านเป็นอย่างมาก

nxwo9N.jpg

ล่าสุดวันนี้ (15 ม.ค.65) ทางด้าน นายวิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวโดยเล่าเหตุการณ์ในฝั่งของชาวบ้านว่า ก่อนหน้านั้นได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้านโดยไม่มีเอกสารทางกฎหมายทั้งหมายศาลหรือหมายค้น โดยทางฝั่งเจ้าหน้าที่ยอมรับกับชาวบ้านว่าได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้านจริง เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหรือไม่ที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถาน โดยไม่มีหมายใดๆ เป้าหมาย 5 จุด แต่เข้าได้อยู่ 4 ชุดจึงเกิดเรื่องขึ้น ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.30- 15.00 น. ในฐานะตนเองที่เป็นชาวบ้านมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีหมายใดๆ แต่เข้าไปในเคหสถาน โดยไม่แจ้งชาวบ้านไว้ล่วงหน้า จึงอยากให้ทาง ผอ.กมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เข้ามาในพื้นที่เพื่อมาตกลงพูดคุย แต่คืนนั้นก็ไม่เข้ามา จนกระทั่งนายอำเภอแม่ริม และผก.สภ.แม่ริม เดินทางมาหลังจากนั้นหน่วย SWAT เข้ามาปิดล้อมชาวบ้านทั้งซ้าย-ขวา จนเกิดภาวะตึงเครียด ตนเองจึงถูกวานให้เข้าไปดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จนกระทั่งเหตุการณ์จบลงด้วยดี

nxwApQ.jpg

นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม บอกอีกว่า ขณะเดียวกันในการเจรจาดังกล่าว ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งในตอนนั้นตนก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ ที่มีข้อตกลงหลักๆ ด้วยกัน 2 ข้อ โดยข้อแรก ให้ทางหน่วยงานของรัฐ หยุดคุกคามภาคประชาชนและห้ามตัดสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชาวบ้าน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มาแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่ได้คืน อีกทั้งยังมีการตัดกระแสไฟฟ้าและน้ำ และในปัจจุบันก็พยายามที่จะรุกรานเรื่องที่อยู่อาศัย ส่วนข้อที่สอง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีการพูดถึงมติ ครม. 11 พ.ย.42 ว่าผ่านมา 20 กว่าปีทำไมถึงไม่มีการดำเนินการ และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากทางเจ้าหน้าที่ละเว้น มติ ครม. 11 พ.ย.42 มติดังกล่าว “ที่ชาวบ้านอ้างว่าอาศัยอยู่มาก่อนป่าสงวน” โดยมติดังกล่าวก็ให้มาทำการรังวัดพิสูจน์สิทธิ์ ว่าคำกล่าวอ้างของชาวบ้านนั้นจริงหรือไม่ และใครที่อยู่หลังป่าสงวนก็ให้ดำเนินการโดยไม่กระทบกับสิทธิ์ของชาวบ้าน โดยตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ

nxwjmE.jpg

ขณะเดียวกัน ตนตั้งข้อสังเกตว่าภาพข่าวที่ออกไปจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้เองวางแผนให้เจ้าหน้าที่รัฐลงมาในพื้นที่ และทำให้เกิดการปิดล้อม และใส่ร้ายให้ชาวบ้านม่อนแจ่มถูกมองว่าเป็นผู้ที่กระทำไม่ดี โดยเชื่อว่ามีใครบางคนอยู่เบื้องหลัง และไม่เชื่อว่าความยุติธรรมจะมาจากปลายกระบอกปืนได้ หน่วย SWAT ที่มีอาวุธครบมือเข้ามาปิดล้อมชาวบ้านนั้นไม่น่าจะช่วยอะไรได้ และกำลังจะเริ่มนับ 1 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในม่อนแจ่ม โดยเริ่มจากภาครัฐเองที่ใช้อาวุธครบมือบุกเข้ามาในพื้นที่จึงเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง

ขณะที่ทางด้าน นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การตรวจสอบการก่อสร้างอาคาร 5 แห่ง ในหมู่บ้านหนองหอยใหม่ บนดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จนถูกชาวบ้านในพื้นที่ชุมนุมล้อมกรอบนั้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงามตามอำนาจหน้าที่เพราะอาคารทั้ง 5 หลัง อยู่ระหว่างการถูกให้ระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราว ตามข้อตกลงระหว่างการจัดทำแผนแม่บท เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองใช้ประโยชน์และการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่ได้หยุดลาดตระเวนตรวจสอบไปนานหลายเดือน แต่กลับพบว่ามีการดำเนินการก่อสร้างอาคารจนเกือบแล้วเสร็จ จึงได้เข้าตรวจสอบรวบรวมข้อมูลว่าผู้ถือครองอาคารที่พักขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งเป็นใคร ไม่ได้เข้าไปจับกุมใคร

ทั้งนี้การตรวจสอบจะยึดหลักตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่ไม่ให้ขยายพื้นที่เพิ่ม, ไม่ให้ซื้อขายเปลี่ยนมือและอยู่อาศัยตามวิถีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พร้อมใช้ภาพถ่ายทางอากาศ พุทธศักราช 2545 ในการอ้างอิง พบว่าในพื้นที่มีการสร้างที่พักรีสอร์ต 116 ราย และอยู่ในเขตป่าสงวน 113 ราย ซึ่งมี 33 ราย ที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้ 19 คดี อยู่ในชั้นอัยการสูงสุดกำลังวินิจฉัย ส่วนที่เหลืออยู่ในชั้นอัยการจังหวัดเชียงใหม่และพนักงานสอบสวน ซึ่งมี 9 รายจากทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดี ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว

nxwDbV.jpgnxwsNS.jpg