จับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ “B.1.1.529” หรือ “นู” พบการกลายพันธุ์ถึง 32 ตำแหน่ง หวั่นวัคซีนเอาไม่อยู่ เชื้อแพร่กระจายง่าย

1946

จับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ “B.1.1.529” หรือ “นู” พบการกลายพันธุ์ถึง 32 ตำแหน่ง หวั่นวัคซีนเอาไม่อยู่ เชื้อแพร่กระจายง่าย

วันที่ 26 พ.ย. 64 เฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” โพสต์ระบุว่า จับตา โควิด ‘สายพันธุ์ใหม่’ พบการกลายพันธุ์ถึง 32 ตำแหน่ง มากสุดตั้งแต่เคยมีมา หวั่นวัคซีนเอาไม่อยู่ เชื้อแพร่กระจายง่าย

​เดลี่เมล สื่อในอังกฤษรายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญ ออกโรงเตือนให้ระวังเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพบในบอสซานาวา ประเทศในแอฟริกา โดยเชื้อตัวนี้พบการฟักตัวในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ใน 32 ตำแหน่ง มากที่สุดตั้งแต่เคยพบมา เชื้อตัวนี้ถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 และถูกเรียกว่า “นู” (Nu) ​เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ อาจจะอันตรายกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และถือว่าเป็น เชื้อโควิด-19 ที่เกิดกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบมา

ในขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ 10 เคส โดย 3 รายพบในบอสซาวานา อีก 6 ราย พบในประเทศอื่นๆในแอฟริกาแต่ไม่บอกว่าประเทศอะไรบ้าง และอีก 1 รายเป็นชาวฮ่องกงซึ่งเดินทางกลับมาจากแอฟริกา

การกลายพันธุ์ถึง 32 ตำแหน่งของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่าจะทำให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ แพร่กระจายได้สูงขึ้น, สามารถต่อต้านวัคซีน และยังเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงที่โปรตีนหนาม หรือ สไปค์โปรตีน มากที่สุดกว่าสายพันธุ์อื่นอีกด้วย

​ศาสตราจารย์ ฟรองซัวส์ บอลลูซ์ นักพันธุศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอนในอังกฤษ ชี้ว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ น่าจะอุบัติขึ้นจากการติดเชื้อแบบในผู้ป่วยคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสไปค์โปรตีนของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะยิ่งทำให้การฉีดวัคซีนในปัจจุบันนี้ต้องพบกับความยากมากขึ้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจากการฉีดวัคซีนในขณะนี้ จะจดจำเชื้อโควิด-19 ที่รับรู้กันก่อนหน้านี้เท่านั้น