“เดลตา” ทำติดเชื้อทั่วโลกพุ่งไม่หยุด ความยากในการรับมือที่ทุกชาติเผชิญ
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ทะลุ 200 ล้านคนแล้ว คิดเป็น 2.6% ของประชากรโลก และหากนับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดเป็น 1 ประเทศแล้ว จะเท่ากับเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากไนจีเรีย
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก ที่จริงแล้วอาจสูงกว่า 200 ล้านด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีหลายพื้นที่ในโลกที่การตรวจเชื้อโควิดเชิงรุกอยู่ในระดับต่ำ
จากการวิเคราะห์ของ Reuters ล่าสุด โลกใช้เวลามากกว่า 1 ปี กว่าที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะพุ่งถึงระดับ 100 ล้านคน แต่ใช้เวลาเพียงแค่กว่า 6 เดือนเท่านั้น ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคน
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดล่าสุด Reuters ระบุว่า เกือบ 4.4 ล้านคนแล้ว โควิดรอบนี้ระบาดหนักขึ้นอย่างน้อย 83 ประเทศ จากทั้งหมด 240 ประเทศทั่วโลก เพิ่มแรงกดทับมหาศาลให้แก่ระบบสาธารณสุขทั่วโลก
มี 5 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มากที่สุดในโลกเฉลี่ย 7 วัน คือ สหรัฐฯ บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และอิหร่าน ประเทศเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในรอบ 7 วัน รวมกันเป็น 38% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วทั้งโลกเฉลี่ย 7 วัน
ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุระดับ 200 ล้านคน ในขณะที่โควิดกลายพันธุ์ “เดลต้า” กำลังคุกคามโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดต่ำ ในสัปดาห์นี้ ด็อกเตอร์ โรเชลล์ วาเลนสกี้ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC เพิ่งออกโรงเตือนว่า ในเวลาที่เราต้องการจะยุติการระบาดอย่างยิ่งยวด แต่กลับไม่สามารถทำได้ ดังนั้น สงครามสู้รบกับโควิดอาจยืดยาวออกไปอีก
สหรัฐอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิน 100,000 คน เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือสูงที่สุดในรอบเกือบ 6 เดือน ท่ามกลางความกังวลถึงยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีการวิจัยจากเมืองโปรวินซ์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่เจอการระบาดของโควิดกลายพันธุ์ Delta และพบว่าไวรัสตัวนี้สามารถระบาดไปยังคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว หรือที่เรียกกันว่า breakthrough” หรือการติดเชื้อในคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ที่สร้างความกังวล ว่า แม้กระทั่งคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะเป็น “ตัวแพร่เชื้อไวรัส” ได้
จำนวนเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 400% จากเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ และโรงพยาบาลเริ่มเต็มไปด้วยผู้ป่วย ซึ่งมีคนวัยหนุ่มสาวมากกว่าที่ผ่านมา และแน่นอนส่วนใหญ่คือคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
รัฐแอละบามา ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในสหรัฐฯ , ผู้ว่าการรัฐ เคย์ ไอวีย์ เรียกร้องให้ประชาชนที่ปฏิเสธวัคซีน ออกมาฉีด พร้อมบอกว่า “ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะกล่าวโทษคนพวกนี้ ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในรัฐของเธอสูงขึ้น”
ฟิลิปปินส์ จะขยายเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว ในเวลากลางคืนในกรุงมะนิลา ท่ามกลางมาตรการคุมเข้ม เพื่อต่อสู้กับแนวโน้มการระบาดรุนแรงมากขึ้นของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ซึ่งปกติบังคับใช้เคอร์ฟิวเป็นเวลา 6 ชม. จากเวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 21.00 น. ตามเวลาในไทย อยู่ก่อนแล้ว จะร่นเวลามาอีก 2 ชม. เป็นเริ่มที่เวลา 20.00 น. จะถูกปิดตั้งแต่วันที่ 6-20 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในฟิลิปปินส์ พุ่งเกิน 8,000 รายต่อวัน นับจากวันศุกร์ถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งสถิติในวันอาทิตย์ (1 ส.ค.) อยู่ที่ 8,735 ราย เป็นยอดที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.
เวียดนาม ยอมรับคุมโควิดไม่อยู่ ขยายเวลามาตรการล็อกดาวน์จำกัดพื้นที่ เกือบ 20 จังหวัดและเมืองทั่วภาคใต้รวมถึงโฮจิมินห์ ออกไปอีก 2 สัปดาห์ ด้านกรุงฮานอย รวมไปถึงอีก 18 จังหวัดและเมืองทั่วภาคใต้ของประเทศ รวมทั้งหมด 19 จังหวัดและเมืองกำลังพิจารณาต่อเวลาจำกัดพื้นที่เช่นกัน เพื่อสู้กับการระบาดของโควิดรอบที่ 4 ที่เลวร้ายที่สุด ขณะที่อัตราฉีดวัคซีนต้านโควิดในเวียดนามต่ำที่สุดในอาเซียน โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมในเวียดนาม ตัวเลขล่าสุด พุ่งขึ้นไปอยู่ 161,761 คนแล้ว เพิ่มขึ้น 7,455 คนในรอบ 24 ชม. ยอดผู้เสียชีวิต 1,695 คน เพิ่มขึ้น 197 ในวันเดียว โดย 85% ของตัวเลขเหล่านี้ พบในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว
ญี่ปุ่น ปรับเปลี่ยนนโยบายการรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุขที่ใกล้เต็มขีดความสามารถ ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่กำลังมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยจำเป็นต้องสำรองเตียงในโรงพยาบาลเอาไว้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่อาการยังไม่รุนแรงขอให้รักษาตัวอยู่กับบ้านไปก่อน แต่หากอาการทรุดลงก็สามารถมาโรงพยาบาลได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตที่บ้านมากขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 935,800 คน เสียชีวิตกว่า 15,100 คน
สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ หรือ KDCA แถลงว่าเกาหลีใต้ยกระดับเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta Plus หลังพบผู้ติดเชื้อ 2 รายแรก ขณะที่เกาหลีใต้ต่อสู้กับการระบาดรอบ 4 ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ไวรัสสายพันธุ์ Delta Plus เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เป็นการกลายพันธุ์จากโปรตีนส่วนหนามที่เรียกว่า K417N ซึ่งพบในสายพันธุ์ Beta ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ด้วย
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อ 3,014 ราย พบว่า มีถึง 64% ติดเชื้อ Delta ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า Delta กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในเกาหลีใต้แล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังคงลดลงต่อเนื่อง
นักวิทยาศาสตร์บางคน กล่าวว่า ไวรัส Delta Plus อาจแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ก็กำลังมีการศึกษาในอินเดียและทั่วโลก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์
