นักศึกษา มช. ยื่นหนังสือกงสุลสหรัฐอเมริกา เรียกร้องใช้มาตรการกดดันรัฐบาลประยุทธ์ หลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรม
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 29 มี.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวแทนประชาชนกลุ่มคนเมืองมูฟเมนต์ และ พรรควิฬาร์ ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง เดินทางไปที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีนายเบนจามิน ราธแซค (Benjamin Rathsack) หัวหน้าสำนักงานรักษาความมั่นคงทางการทูต กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับจดหมาย
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญเป็นการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาออกมาแสดงท่าที ต่อรัฐบาลไทยที่มีการปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างหนัก โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มีการยิงกระสุนยางใส่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนรวม ไปถึงนักข่าวที่มารายงานสถานการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลได้ใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 มาตรา 116 และ มาตรา110 ดำเนินคดีกับประชาชน ผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนเนื่องจากข้อกฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง มีการตีความที่คลุมเครือและกว้างขวางมากเกินไปโดยเฉพาะการบังคับใช้ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่
โดยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาดำเนินทางกฎหมาย “Magnitsky Act” ระงับวีซ่า ระงับการทำธุรกรรมและอายัดทรัพย์สินในประเทศสหรัฐอเมริกากับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันเพื่อให้สิทธิ เสรีภาพ และยุติธรรม ได้บังเกิดแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
การยื่นจดหมายครั้งนี้ ตัวแทนได้อ่านข้อความในจดหมายให้กับผู้สื่อข่าวฟังทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษก่อนจะแยกย้ายสลายตัว ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สภ.เมืองเชียงใหม่
นายจตุรณ คำชมภู ตัวแทนจากพรรควิฬาร์ เปิดเผยว่า มายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาสนับสนุนและแสดงความห่วงใยในประเด็นสิทธิมนุษยชน กรณีที่รัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างรุนแรงกับแกนนำผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา โดยเฉพาะมาตรา112 และ 116 ทั้งที่ยังไม่มีความผิดที่ชัดเจน และ ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังก็ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวต่อสู้คดี
นอกจากนี้การสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ยังเป็นการสลายชุมนุมที่เป็นการลุแก่อำนาจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอย่างสันติ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มีความพยายามในการใช้ความประนีประนอมตามที่ได้บอกไว้ แต่กลับปฏิบัติกับประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม คาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะมีปฏิกิริยาในเรื่องนี้ หลังจากนี้หากรัฐบาลยังกดดันต่อเนื่อง จะเคลื่อนไหวยื่นหนังสือต่อสถานทูตอีกหลายประเทศ