ศบค.ชุดเฉพาะกิจ เตรียมเคาะแผน ‘Travel Bubble’ 17 มิ.ย.นี้ จับคู่ประเทศรับมือโควิด-19 ดีเข้าเที่ยวไทย

583
เตรียมเคาะแผน ‘Travel Bubble’ 17 มิ.ย.นี้

ศบค.ชุดเฉพาะกิจ เตรียมเคาะแผน ‘Travel Bubble’ 17 มิ.ย.นี้ จับคู่ประเทศรับมือโควิด-19 ดีเข้าเที่ยวไทย

จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ดีขึ้นต่อเนื่อง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้แสดงความมั่นใจว่าศักยภาพภาคการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรการ “Travel Bubble” ซึ่งจะเป็นการการจับคู่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกันให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้

Travel Bubble เป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยว เป็นความร่วมมือแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมาที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการนี้แล้ว

เวลานี้อยู่ในขั้นของการหารือระหว่างหน่วยงานภายใต้ 4 กระทรวง คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สาธารณสุข มหาดไทย และการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค. ชุดเฉพาะกิจที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ในลำดับถัดไป

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทวงการท่องเที่ยวฯ หวังจะให้มาตรการ “Travel Bubble” เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีจุดแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่าจะชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆเข้ามาตามลำดับ

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะมีมาตรการอื่นรองรับ แทนการกักตัว 14 วัน เพื่อสร้างความไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย

รวมถึงอาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ มีการติดตามตัวผ่านแอพพลิเคชั่นตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่หน่วยงานต่างๆ จะกำหนดร่วมกัน แต่สำคัญที่สุดคือประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในไทยนั้น จะต้องเป็นประเทศที่มีความสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีใกล้เคียงกับไทย

Cr. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 กรมประชาสัมพันธ์