ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพิ่มกลไกอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการจัดทำ-เสนอร่างกฎหมาย
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 133 (3) และ มาตรา 256 (1) บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายและญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเข้าชื่อและการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนที่รองรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังขาดกลไกช่วยเหลือให้กับประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวขึ้น โดยผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 โดยยังคงหลักการเดิมสำหรับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน และเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน แต่ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนและการจัดทำร่างกฎหมาย เช่น
มาตรา 4 บทนิยาม ได้เพิ่มถ้อยคำ การเข้าชื่อกฎหมายให้มีความหมายรวมถึงการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และแก้ไขบทนิยามจาก “ผู้ริเริ่ม” เป็น “ผู้เชิญชวน” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ริเริ่มเชิญชวนให้มีการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
มาตรา 6 กำหนดหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเข้าเสนอได้ต้องเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 8 กำหนดให้ 1)มีผู้เชิญชวนแม้จะคนเดียวก็สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการเข้าเสนอชื่อเสนอกฎหมายได้ จากเดิม ต้องมีผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่า 20 คน 2)วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทำได้หลายวิธีทั้งแบบเอกสารลงลายมือชื่อ หรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 11 กำหนดจำนวนผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ไม่เกิน 30 คน จากเดิมไม่เกิน 60 คน
มาตรา 17 ไม่กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แต่เพิ่มโทษโดยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลสั่ง
มากไปกว่านั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โดยมีกลไก เช่น 1)กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบคนร้องขอ และกำหนดระยะเวลาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ 2)กำหนดกรอบเวลา กรณีที่สำนักงานเลขาธิการเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแทนผู้ร้องขอ หากพ้นกำหนด 1 ปี ยังไม่ครบหนึ่งหมื่นคนให้แจ้งผู้ร้องดำเนินการเข้าชื่อให้ครบตามจำนวนภายใน 90 วัน หากเกินกำหนดให้ยุติเรื่อง 3)ให้สำนักงานเลขาธิการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 4)ให้สำนักงานเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายและนำเสนอให้รัฐสภานำไปประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ เมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงกฎหมายเพื่อทราบแนวทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และจะร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเข้าชื่อกฎหมายเพื่อยืนยันตัวบุคคล อันเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนต่อไป