บริษัท ไฮไลฟ์ โกลบอล ฟู้ดส์ จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ เดินหน้าสานต่อพันธกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน จับมือกับ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะเชิงปฏิบัติให้แก่นักศึกษา เตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงานและการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ภายในงานเมื่อเร็วๆนี้ (23 กรกฎาคม 2568) ได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารกลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ นำโดย ดร.บัณฑิต จำรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮไลฟ์ โกลบอล ฟู้ดส์ จำกัด และนางสาวณินท์นราย์ มโนทิพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาด กลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้แทนร่วมลงนาม พร้อมคณะผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกรอบความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ การสร้างผู้ประกอบการ การฝึกสหกิจศึกษา ฝึกงาน และปัญหาพิเศษของนักศึกษา โดยทางบริษัทจะสนับสนุนการจัดกิจกรรม บรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ การอบรมเชิงวิชาชีพ ตลอดจนการศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง
ดร.บัณฑิต จำรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮไลฟ์ โกลบอล ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า “บริษัท ไฮไลฟ์ โกลบอล ฟู้ดส์ ในเครือกลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าการผนึกกำลังระหว่างภาคเอกชนกับภาคการศึกษา คือกุญแจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้นักศึกษาเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมเข้าสู่โลกการทำงานได้อย่างมั่นใจและมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างแท้จริง”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือในวันนี้นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนานักศึกษาของเราให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพ โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจจะเป็นการเสริมสร้างความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
กลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างพันธมิตรกับภาคการศึกษา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตของคนรุ่นใหม่ผ่านการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดรับกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม โดยเชื่อว่าการบ่มเพาะศักยภาพตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรคุณภาพ ที่พร้อมเติบโตเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืนในระยะยาว