รมว.ศึกษาธิการ เชื่อการศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก พร้อมจับมือ สพฐ. ลดภาระงาน-เพิ่มสวัสดิการครูไทย

1

7 ก.ค. 68 – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครบรอบ 22 ปี

รมว.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นส่วนส่วนสำคัญสำคัญช่วยส่งเสริม พัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ให้มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การศึกษาของไทยจำเป็นต้องก้าวต่อไป พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษาไทย
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างคนไทยให้มีความรู้และมีคุณภาพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน เพราะการศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ

“ตนเองถือว่าเป็นผลผลิตของ สพฐ. จบจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เมื่อมีคนพูดถึงการศึกษาไทยไม่ดีจึงไม่เชื่อ เพราะได้พิสูจน์ด้วยการเรียนของตนเอง ที่สามารถเรียนจนสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในประเทศ และสอบชิงทุนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ด้วยคะแนนที่สูงกว่านักเรียนนานาชาติ จึงเชื่อเสมอว่า “การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”
แต่หากถามถึงจุดที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ ซึ่งตนเองขอฝากไปยังผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร สพฐ. ครู และบุคลากร ให้ช่วยกันคิดเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษา
– อันดับแรก คือ การลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูในประเทศไทยกว่า 500,000 คน ได้มีเวลาพัฒนางานของตนเอง และมุ่งสอนลูกศิษย์ให้มากยิ่งขึ้น
– เรื่องที่ 2 คือ เรื่องของสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ให้ครูต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และทำหน้าที่หลักของครูให้ดีที่สุด
– เรื่องที่ 3 คือ เรื่องของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมือง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของระบอบการปกครองของประเทศ ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
– เรื่องที่ 4 คือ การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากสามารถดำเนินการปรับปรุงได้ทันในห้วงต่อไป ขอให้ สพฐ. ช่วยในเรื่องของการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

สำหรับการทำงาน ขอให้เป็นในลักษณะของครอบครัวเดียวกัน มีอะไรปรึกษาหารือกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศ” รมว.ศธ. ย้ำ
รมว.ศธ. กล่าวชื่นชมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีที่ผ่าน ๆ มาทุกท่าน นโยบายใดที่เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ก็จะดำเนินการสานต่อนโยบายเหล่านั้นต่อไป ทั้งนี้ ไม่ต้องการทำงานแบบ Top-Down แต่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ขอฝากให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังความคิดเห็นของครู ผู้บริหาร และองค์กร ต่าง ๆ เช่น คณะกรรมาธิการการศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายขับเคลื่อนงานการศึกษาในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป