7 ก.ค. 68 – นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกภาคเหนือ จัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 7-8 พฤษภาคม 2568) พบว่า ปี 2568 ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 1,243,784 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 1,251,506 ไร่ (ลดลง 7,722 ไร่ หรือร้อยละ 0.62 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากและให้ผลผลิตน้อย โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้านผลผลิตรวม มีจำนวน 1,064,242 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 947,140 ตัน (เพิ่มขึ้น 117,102 ตัน หรือร้อยละ 12) เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนาน เอื้ออำนวยต่อการติดดอก ไม่กระทบแล้ง ส่งผลให้ติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยในฤดู ออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน 2568 และจะออกตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2568 ประมาณ 422,400 ตัน หรือ ร้อยละ 57 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด
สถานการณ์การผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2568 พบว่า ลำไยในฤดู มีจำนวน 740,639 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 598,528 ตัน (เพิ่มขึ้น 142,111 ตัน หรือ ร้อยละ 24) และลำไยนอกฤดู (ออกสู่ตลาดมกราคม – พฤษภาคม และ ตุลาคม – ธันวาคม) มีจำนวน 323,603 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 348,612 ตัน (ลดลง 25,009 ตัน หรือร้อยละ 7) ด้านสถานการณ์ราคาลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ณ เดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยในฤดู เริ่มออกสู่ตลาด (เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 2,684 ตัน) ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาที่เกษตรกรขายได้ แบ่งตามเกรด ได้แก่ ลำไยสดช่อ เกรด AA+A (ตะกร้าขาว) ราคา 40 บาท/กิโลกรัม ลำไยรูดร่วง เกรด AA ราคา 26 บาท/กิโลกรัม , เกรด A ราคา 10 บาท/กิโลกรัม , เกรด B ราคา 6 บาท/กิโลกรัม และเกรด C ราคา 1 บาท/กิโลกรัม
แนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุล Demand-Supply โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น ลำไยกระป๋อง ฟรีซดราย และแช่แข็ง จำนวน 520,099 ตัน บริโภคสดในประเทศ จำนวน 124,847 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 95,693 ตัน อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัว อาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนการจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการบริหารจัดการโดยมีกิจกรรมการจัดทำแผนกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการในตลาดกลางสินค้าเกษตรที่อยู่ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 3 บาท รวม 1,304 ตัน อีกทั้งมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ ตลาดออนไลน์ และตลาดอื่น ๆ อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตลาดไท พาณิชย์ หน่วยงานราชการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การผลิตลำไยในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรชาวสวนลำไยควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด ทั้งนี้ การบริโภคผลผลิตลำไยจากเกษตรกรไทยจะแนวทางสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกร ซึ่งพร้อมออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนรายได้ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการดำเนินอาชีพ และผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน