4 ก.ค. 68 – น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปีนี้ตรงกับวันเข้าพรรษาวันที่ 11 ก.ค. 2568 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมติเห็นชอบ รูปแบบกิจกรรมรณรงค์ปีนี้โดย มุ่งเน้นการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นศูนย์ “Zero drink Zero death” เป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย และเชิญชวนประชาชนลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางของปัญหาสำคัญหลายมิติ
“การตัดสินใจ ดื่ม หรือเลิกดื่ม ไม่ได้อยู่ที่บริบทสังคม แต่เป็นการเลือกที่จะฟังเสียงจากใจของเราเอง เลือกที่จะมีสติ เลือกสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตนเองและคนที่รักต่างหาก ผ่านการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพียงแค่บอกกับตัวเอง และชวนตัวเองวางหรือคว่ำแก้วเหล้าที่อยู่ในมือ เพื่อนำทางเราไปสู่เส้นทางที่ดีกว่า จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางชีวิตใหม่นี้ เริ่มวันนี้ ดีตั้งแต่วันนี้ ชวนตัวเองเลิกดื่มแอลกอฮอล์ คุณทำได้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพและร่างกาย เพื่อตนเองและครอบครัว ซึ่ง สสส. ยืนยันว่าจะร่วมกันกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้เพื่อให้ผู้ดื่มสุรา ได้ตระหนักถึงพิษภัยของการดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ปี 2562–2566 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เฉลี่ยปีละเกือบ 57,000 ราย รวม 5 ปี มากกว่า 284,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 370,000 ล้านบาท ที่น่าตกใจคือ คนไทยเกือบ 80% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มของผู้อื่น ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญหาครอบครัว โดยต้นทุนทางสังคมเฉลี่ยจากนักดื่มไทยหนึ่งคนสูงถึง 498,196 บาท โดยเฉพาะนักดื่มชายมีต้นทุนสูงถึง 721,344 บาทต่อคน แอลกอฮอล์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ที่เชื่อมโยงกับมะเร็งอย่างน้อย 8 ชนิด อาทิ มะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ตับ และตับอ่อน ตัวเลขทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการลด ละ เลิกการดื่ม เพื่อปกป้องสุขภาพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน