โฆษก ศธ. บอกทำได้ ให้นักเรียนไว้ทรงผม และแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยกลไลยอมรับความคิดเห็นร่วมกัน สร้างโรงเรียนแห่งความสุข

44

8 พ.ค. 67 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ชื่นชมโรงเรียนบุญวัฒนา จากกรณีเฟซบุ๊ก “สภานักเรียนโรงเรียนบุญวัฒนา” โพสต์รูปภาพระเบียบการแต่งกายของนักเรียนประจำปีการศึกษา 2567 โดยระบุถึงเครื่องแบบการแต่งกายของนักเรียนที่เป็น LGBTQ+ เพศกำเนิดชายสามารถไว้ผมยาวได้ แต่ต้องมัดผมรวบไปไว้ข้างหลังพร้อมผูกโบว์สีขาว ส่วนเพศกำเนิดหญิงสามารถไว้ผมสั้น ตัดทรงรองทรงได้ ซึ่งกำลังเป็นกระแสชื่นชมในโซเชียลมีเดีย จนมีการแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก

โฆษก ศธ. กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวัฒนา ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองมุมใหม่ไม่ยึดติดกรอบเดิม เพราะปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างและความเท่าเทียมทางเพศ ตามแนวทางของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเราเชื่อเสมอว่าความสุขแรกที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดขึ้นในสถานศึกษาที่มีการพูดคุย รับฟังความคิดเห็นกันและกัน การที่ผู้บริหารโรงเรียนได้มีการร่วมหารือกับผู้ปกครองและสภานักเรียน จนมีการออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้แต่งกายตามเพศสภาพ ตามข้อตกลงร่วมกัน เรียกได้ว่าให้อิสระกับผู้เรียนมากขึ้น แต่ยังเคารพระเบียบของโรงเรียนอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

ซึ่งแนวคิดของโรงเรียนบุญวัฒนาเกิดกระแสเชิงบวกจากสังคมในทางที่ดี ถือเป็นการนำร่องที่น่าสนใจ เป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ เชื่อว่าหากผู้บริหารทุกโรงเรียนใช้กลไกการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาออกแบบ กฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับ โรงเรียนทุกโรงเรียนก็จะเป็นโรงเรียนแห่งความสุข นักเรียนก็จะเรียนอย่างมีความสุข อยากมาโรงเรียนทุกวัน ส่งผลให้มีผลการเรียนที่ขึ้น เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล

โฆษก ศธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 โดยให้อำนาจกับสถานศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามความเหมาะสมและบริบทของแต่ละที่ และเหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการแต่งกายชุดนักเรียน เครื่องแบบลูกเสือ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยและสภาพอากาศในปัจจุบัน โดยเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้มีความถูกต้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองอันอบอุ่น”