“อ.เจษฎา” เตือน! คลิป TikTok ทดสอบเติมน้ำมันต่างปั๊ม ไม่น่าเชื่อถือ ต้องทดสอบตามมาตรฐานสากลเท่านั้น

2173

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 65 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อ.เจษฎา) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟสบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ประเด็นเกี่ยวกับคลิป TikTok ทดสอบการเติมน้ำมันต่างปั๊ม ระบุว่า

ที่มีคลิป TikTok “ทดสอบเติมน้ำมันต่างยี่ห้อ อันไหนวิ่งได้ไกลกว่า” ซึ่งมีช่วงหนึ่งคลิปนี้เป็นกระแส คนแชร์ออกไปเยอะเหมือนกันนั้น ไม่ได้น่าเชื่อถือครับ ไม่อยากให้ทุกคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงแค่ดูคลิปเดียวครับ

มีการบ้านเรื่องนี้ค้างอยู่ จากที่บางท่านถามมาตั้งแต่ตอนช่วงที่พูดเรื่องสายประหยัดน้ำมัน ว่าที่มีการแชร์ข้อมูลไวรัลกันจากคลิป TikTok ทำนองว่า “มีคนทดลองไปเติมน้ำมันจากปั๊มยี่ห้อ A แล้วได้ระยะทางวิ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเติมน้ำมันจากปั๊มยี่ห้อ B” อันนี้ เชื่อได้หรือเปล่าครับ ?

หลายคนซีเรียสกับเรื่องนี้ทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงสูงอยู่ (แม้จะลดลงมาบ้างแล้ว) พอมีแชร์คลิป TikTok ว่า “เติมยี่ห้อ A เต็มถัง วิ่งได้น้อยกว่าเติมยี่ห้อ B ไป 20 กิโลเมตร“ คนก็หนีไปเติมยี่ห้อ B นั้นตามๆ กัน แม้จะไม่ใช่ผลการทดสอบจากหน่วยงานหรือสถาบันด้านพลังงานแต่อย่างไร

บอกเลยว่า เรื่องทำนองนี้ จริงๆ แล้ว ไม่ได้น่าเชื่อถืออะไรครับ !! โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างแรกเลย คือ วิธีการทดสอบที่เค้าลองทำกันนั้น มีปัจจัยแปรปรวนอะไรที่ต้องควบคุมบ้าง? การทดสอบอย่างไรถึงจะได้มาตรฐาน และทำซ้ำกันกี่รอบถึงจะมั่นใจในผลที่ได้?

ขอพูดถึงเรื่องปัจจัยแปรปรวนก่อนละกัน อย่างแรก “สภาพการจราจร” เนื่องจากคลิป TikTok ไปวิ่งทดสอบกันเองนั้น จะเจอผลกระทบจากสภาพการจราจรเป็นหลักเลย เพราะแค่ช่วงวิ่งนอกเมืองที่รถว่าง กับวิ่งในเมืองที่รถติด อัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ก็แตกต่างกันมาก ยิ่งรถติดเท่าไหร่ ก็ยิ่งกินน้ำมันหนักเท่านั้น ซึ่งเราคาดเดาได้ยาก จะไปอ้างว่ารถติดพอๆ กันในแต่ละวัน ก็ไม่ได้ เพราะมันไม่แน่ไม่นอน ผลที่ออกมาก็ผิดเพี้ยนไปเยอะ

อีกปัจจัยที่หลายคนมองข้ามไป เวลาบอกว่า “เติมน้ำมันเต็มถัง” เอาเข้าจริงๆ แต่ละปั๊มก็ไม่ได้จะเติมเท่ากันเป๊ะๆ ทุกครั้ง ขึ้นกับว่า “หัวจ่ายจะตัดตอนไหน” ซึ่งก็ไม่แน่นอน ขึ้นกับอุณหภูมิของไอน้ำมันในถังน้ำมันของรถ แถมเด็กปั๊มอาจจะเติมเพิ่มลงไป ให้ได้จ่ายเป็นตัวเลขบาทกลมๆ อีกด้วย

และเรื่องเติมน้ำมันนี่ ยังขึ้นกับว่ามี “น้ำมันคงค้าง” อยู่ในถังน้ำมันมากน้อยแค่ไหนด้วย บางที “ไฟเตือนให้เติมน้ำมัน” โชว์ขึ้นตอนที่น้ำมันในถังเหลือน้อยมาก อาจจะเหลือแค่ 4 ลิตร เราก็เติมกลับเข้าไปได้เยอะ
แต่บางทีมันก็เตือนตอนที่น้ำมันเหลือน้อยแต่ยังพอวิ่งไปหาปั๊มเติมได้ เช่น อาจจะยังค้างอยู่ 7 ลิตร พอเติมกลับเข้าไป รอบนี้เลยได้มากกว่าเดิม 3 ลิตร ระยะทางวิ่งก็กลายเป็นต่างกัน 45 กิโลเมตร (ถ้าอัตราสิ้นเปลือง 15 กิโลต่อลิตร) คนก็ยิ่งตกใจถึงผลต่างที่เกิดขึ้น

ดังนั้น เราลองมาดูการทดสอบ “อัตราการใช้เชื้อเพลิง ของรถยนต์” ถ้าให้ได้มาตรฐานนั้น จะต้องลดปัจจัยแปรปรวนต่างๆ โดยการไปวิ่งทดสอบบนลูกกลิ้งของ “เครื่องไดโน (dynamometer)” ในห้องทดสอบ ที่มีการใช้คนขับจริง และทำสภาวะแวดล้อมให้เหมือนกับการวิ่งจริง (เช่น ใช้พัดลมเป่าลมใส่ เพื่อสร้างแรงปะทะกับอากาศ) จะมีการกำหนดให้คนขับเร่งเครื่อง หรือคงความเร็ว หรือเบรก ตามมาตรฐานกำหนดในการใช้งานแบบในเมือง และแบบนอกเมือง รวมไปถึงการวัดปริมาณไอเสียที่เกิดขึ้น เพื่อคำนวณเป็นปริมาณของน้ำมันที่ใช้ไปต่อระยะทางวิ่ง ซึ่งผลที่ได้นั้น เราก็อาจจะเคยเห็นผ่านตาในรูปของ Eco sticker อีโคสติกเกอร์ ที่ประกอบการจำหน่ายรถแต่ละรุ่น (ว่ากินน้ำมันกี่กิโลเมตรต่อลิตร)

ต่อจากการวิ่งทดสอบบนเครื่องไดโน ก็ยังมีมาตรฐานการทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ ด้วยการ “ใช้งานรถจริง” ในสนามทดสอบ เน้นย้ำว่าต้องเป็นรถรุ่นเดียวกัน สภาพเครื่องยนต์เหมือนกัน เลขไมล์ใกล้กัน เติมน้ำมันชนิดเดียวกัน เติมลมยาง บรรทุกของ และตั้งค่าแอร์ให้เท่ากัน มาขับตามกันบนถนนโดยต้องควบคุมความเร็วและอัตราเร่งให้เหมือนๆ กัน แล้วนำมาคำนวณหาปริมาตรของน้ำมันที่เติมกลับไปมาเทียบกัน

ซึ่งบางทีผมเคยเห็นว่า ผลการทดสอบจากการใช้รถวิ่งจริง “แต่ต่าง ‘วัน’ กัน” จะเห็นความแปรปรวนของอัตราการใช้เชื้อเพลิงได้ ทั้งที่มาจากรถคันเดียวกัน คนขับคนเดียวกัน เส้นทางก็เหมือนกัน เพราะว่าสภาพแวดล้อมสภาพอากาศในแต่ละวันนั้น มีความแตกต่างกันและส่งผลต่ออัตราการใช้เชื้อเพลิงด้วย

อย่างที่ผมเล่ามาแต่ต้นว่า การทดสอบน้ำมันเทียบกับระยะทางนั้น ขนาดการทดสอบตามมาตรฐานที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ อย่างรัดกุมแล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้ผลลัพธ์ที่แปรปรวนไปบ้างเมื่อทดสอบคนละวันกัน แล้วการที่เราเอารถของเรา ไปเติมน้ำมันต่างยี่ห้อ มาวิ่งทดสอบวัดค่ากันเอง แบบในคลิป Tiktok แค่ครั้งสองครั้ง ในเส้นทาง วันเวลา สภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน ก็ยิ่งได้ค่าอัตราการใช้เชื้อเพลิงที่แปรปรวนหนักเข้าไปใหญ่

เอาเป็นว่า โดยสรุปแล้ว พวกคลิป TikTok ทดลองทดสอบน้ำมันรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ แบบทำกันเองนี้ ไม่ได้น่าเชื่อถืออะไรครับ !! ต้องอาศัยการทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ควบคุมปัจจัยแปรปรวนต่างๆ แล้วเท่านั้น ถึงจะเชื่อถือได้ครับ

ปล. จริงๆ แล้ว ถ้าพวกเราอยากประหยัดน้ำมัน ก็ควรจะใช้รถยนต์อย่างเหมาะสมมากกว่า ไม่ว่าจะการขับขี่ที่ไม่เร็วเกินไป ไม่เร่งไม่เบรกบ่อยครั้งเกินไป และหมั่นดูแลรักษารถและเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอครับ