อาจารย์ ม.แม่โจ้ ค้นพบ ปลาค้างคาวชนิดใหม่ของโลก ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนบนพื้นที่สูง

7201

อาจารย์ ม.แม่โจ้ ค้นพบ ปลาค้างคาวชนิดใหม่ของโลก ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนบนพื้นที่สูง

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ค้นพบปลาค้างคาวชนิดใหม่ของโลก จากลุ่มน้ำแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า “ปลาค้างคาวอมก๋อย” และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreoglanis omkoiense Suvarnaraksha, 2020 โดยได้ตีพิมพ์ในวารสาร Raffles Bulletin of Zoology ฉบับที่ 68 หน้า 779-790 ปี 2020  ซึ่งปลาในสกุลนี้พบได้ในบริเวณต้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ น้ำไหลแรง ใสสะอาด  เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนบนพื้นสูง

bOXmkD.jpg

รศ.ดร.อภินันท์  กล่าวว่า “ปลาค้างคาวอมก๋อย (Oreoglanis omkoiense) จัดอยู่ในสกุล Oreoglanis ซึ่งเป็นสกุลของปลาที่มี  รูปทรงลู่ไปกับน้ำ ส่วนท้องแบนราบ แนบติดกับก้อนหินใต้น้ำ ก้านครีบเดี่ยวของครีบท้องกับครีบหูรวมถึงหนวดที่ขากรรไกรบนและบริเวณริมฝีปากจะ   มีตุ่มขนาดเล็กมากใช้ในการยึดเกาะกับก้อนหิน ส่วนของปากจะเป็นช่องสามเหลี่ยม ส่วนปลายของหนวดที่ขากรรไกรมีพังผืดยึดและลู่ไปด้านหลัง   จัดอยู่ในวงศ์ปลาแค้ติดหิน (Sisoridae) เป็นปลาค้างคาวที่พบในลุ่มน้ำ  แม่ตื่นจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับปลาค้างคาวสยาม (O. siamensis) ที่พบที่ลุ่มน้ำแม่กลางของดอยอินทนนท์ แตกต่างจากชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ปลายของหนวดที่ขากรรไกรบนมีปลายแหลม หนวดที่จมูกยาว 25.0-32.9% ของความยาวมาตรฐาน  ครีบไขมันมีฐานยาว 32.3-39.6% ของความยาวมาตรฐาน ระยะจากจะงอยปากถึงครีบหลัง 33.2–39.2% ของความยาวมาตรฐาน ระยะจากจะงอยปากถึงจุดเริ่มต้นครีบท้องยาว 36.1–39.2% ของความยาวมาตรฐาน ความลึกของคอดหางลึกเป็น 2.1–3.3 เท่าของความยาว หัวกว้าง 18.7–22.9% ของความยาวมาตรฐาน เส้นผ่าศูนย์กลางของตาเป็น 9.2–13.1% ของความยาวหัว ครีบหางเป็นแบบเว้าเข้าเล็กน้อย  ซึ่งปลาเหล่านี้ชาวท้องถิ่นนำมาปรุงอาหารรับประทานได้หลายรูปแบบ”

รศ.ดร. อภินันท์ ยังให้ข้อมูลที่  ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่อระบบนิเวศเพิ่มเติมว่า “ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่อาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีมาก คือมีอุณภูมิของน้ำต่ำตลอดทั้งปี น้ำใส ไหลแรง มีปริมาณออกซิเจนสูง มีร่มเงาของป่าไม้ ปลากินแพลงตอนและแมลงน้ำขนาดเล็กที่เกาะอยู่บนก้อนหินเป็นอาหาร และไวต่อสารเคมีมาก ไข่มีจำนวนน้อย เพียงประมาณ 30-60 ฟอง จึงเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ   เพราะฉะนั้นหากมีการตัดไม้ทำลายป่า หรือใช้ยาฆ่าแมลง  ก็จะเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหาร ทำลายระบบนิเวศ เพราะจะไม่มีแมลงบกที่ลงมาไข่ในน้ำ ปลาก็ไม่มีอาหารกิน ทรายที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดินก็จะเข้ามาทับถมก้อนหิน ก็ไม่มีแพลงตอนบนก้อนหิน ไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่สืบพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อน เป็นการทำลายแหล่งที่อยู่ของปลาเหล่านี้ และที่สำคัญยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารโปรตีนจากปลาของประชาชนบนพื้นที่สูงอีกด้วย จึงอยากให้ช่วยกัน รักปลา รักษ์ป่า รักษาความสมดุล”

ที่มา: สุจิตรา ราชจันทร์  ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้

bOXvWW.jpg
bOXG12.jpg
bOXLLy.jpg
bOXJA1.jpg

bOXyO9.jpg
bOXFXJ.jpg
bOXMzb.jpg
bOaWxf.jpg
bOad6a.jpg