ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบสารพาราควอตในน้ำปู 33% จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ

4107

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบสารพาราควอตในน้ำปู 33% จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 25 กันยายน 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอตจำนวน 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33  หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมด ใน 6 จังหวัด  โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่
1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก .บ้านลา .แจ้ห่ม .ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก .ทุ่งฮั้ว .วังเหนือ .ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
3.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา .ข่วงเปา .จอมทอง .เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก .แม่ยางฮ่อ .ร้องกวาง .แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก .ศรีถ้อย .แม่ใจ .พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว .บ้านดู่ .เมือง .เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน .ปง .พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านร่องกาศใต้ .ร่องกาศ .สูงเม่น .แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้สนับสนุน ให้ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 รายการ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ยกเลิกไปจำนวน 2 รายการ คือ พาราควอต และคลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ ไกลโฟเสต

องค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันรณรงค์และประสานงานองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคเดินหน้าการยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้ง 3 รายการ และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรในอาหารโดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์เราพบสารพาราควอตแม้ว่าจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้น  เป็นปูนาที่มีการปนเปื้อนสารเคมีประเภทพาราควอต จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะมีการห้ามการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลของ “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา ตามที่เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา และใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (28 กันยายนทั้งที่ข้อเท็จจริงการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็มที่ใช้ในการทำส้มตำในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังไม่เคยทำการทดสอบน้ำปูหรือน้ำปู๋อาหารของคนไทยภาคเหนือตามที่อ้าง

วันนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยืนยันว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ของ 5 จังหวัด  จาก 6 จังหวัด มีการตกค้างพาราควอตถึง 1 ใน 3 จาก 24 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่ได้ทำการทดสอบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสารพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน มีอันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งเป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าประเทศ รวมทั้งยังใช้การกดดัน การจ้างมืออาชีพล็อบบี้ เจรจา ให้กระทรวงเกษตร  และคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอคัดค้านให้มีการทบทวนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส โดยขอให้คงมติการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดและเร่งดำเนินการเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

นางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำปูหรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น วิธีการทำน้ำปูนั้นชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำ กรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียว เป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น สำหรับผู้บริโภคหากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบพาราควอต พบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีอื่นๆ

โดยทางเว็บไซต์ pobpad.com ได้อธิบายเกี่ยวกับ สารพาราควอต (Paraquat) คือสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของยากำจัดวัชพืช ในปัจจุบันมีหลายประเทศเช่นกันที่สั่งห้ามใช้สารชนิดนี้ในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากเป็นสารมีที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังมีรายงานว่าพาราควอตอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่การทำการเกษตรในประเทศไทยยังคงมีการใช้สารเคมีดังกล่าวเพื่อกำจัดวัชพืชอยู่ อีกทั้งผักผลไม้ที่นำมารับประทานก็อาจมีการตกค้างของสารเคมีชนิดนี้

พิษจากพาราควอต

ความรุนแรงจากอาการโดนพิษของพาราควอตอาจขึ้นอยู่กับปริมาณ รูปแบบที่ได้รับ รวมทั้งความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม พิษจากสารชนิดนี้เป็นอันตรายและออกฤทธิ์รวดเร็ว โดยอาการอาจแบ่งตามรูปแบบการได้รับ ดังนี้

  • การสัมผัส
    แม้ว่าพาราควอตเป็นสารที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้น้อย แต่เมื่อสัมผัสกับสารชนิดนี้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการ อย่างผิวหนังระคายเคือง เกิดบาดแผล เป็นผื่นอย่างรุนแรง และหากพาราควอตสัมผัสกับแผล อาจเกิดการดูดซึมเข้ากระแสเลือดและส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย
  • การสูดดม
    การได้รับพาราควอตผ่านทางการสูดดมอาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย และยังเป็นอันตรายต่อทารกได้อีกด้วย
  • การรับประทาน
    การได้รับสารพิษชนิดนี้ผ่านการรับประทานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยปกติแล้ว ยากำจัดวัชพืชมักประกอบด้วยพาราควอตที่มีความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลการรายงานพบว่า ความเข้มข้นในระดับนี้ หากได้รับยากำจัดวัชพืชปริมาณ 15 มิลลิลิตร ผู้ที่ได้รับสารพิษอาจยังมีโอกาสรอดชีวิต แต่ถ้าหากได้รับเกิน 50-60 มิลลิลิตร ผู้ที่ได้รับสารมักเสียชีวิตและอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงโดยอาการเป็นพิษอาจเริ่มต้นด้วยความรู้สึกปวดแสบและแสบร้อนภายในช่องปากและลำคอ หายใจลำบาก เลือดกำเดาไหล หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ท้องเสียและอาจมีเลือดปน อาเจียนหรืออาเจียนเป็นเลือด โดยอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะขาดน้ำ ภาวะไม่สมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย และภาวะความดันโลหิตต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการช็อกได้การได้รับพาราควอตในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจส่งผลให้เกิดภาวะอวัยวะ อย่างหัวใจ ปอด ตับ และไตทำงานล้มเหลว โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารพิษหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ หากได้รับสารนี้ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นแผลในปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจได้รับบาดเจ็บ ไตวายเฉียบพลัน ตับทำงานล้มเหลว โคม่า ชัก และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต

นอกจากนี้ การได้รับพาราควอตต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้อวัยวะล้มเหลว เป็นแผลภายในปอด เกิดพังผืดภายในปอด (Pulmonary fibrosis) และอาจเป็นอันตรายต่อทารกหากผู้สัมผัสกำลังตั้งครรภ์

ข้อมูล : นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค / https://www.pobpad.com/