9 พ.ค. 68 – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้า ในการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยไปยังตลาดจีน โดยเตรียมสนับสนุนกิจกรรมการไลฟ์สดจำหน่ายผลไม้ผ่าน Taiyuan Lao Ge อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของจีน ที่มีผู้ติดตามกว่า 93 ล้านคนบนแพลตฟอร์ม Kuaishou
ทั้งนี้ Taiyuan Lao Ge ซึ่งเคยสร้างสถิติขายทุเรียนไทยได้เกือบ 1,000 ล้านบาทในวันเดียวเมื่อปีที่ผ่านมา เตรียมกลับมาไลฟ์สดอีกครั้งในช่วงวันที่ 11-12 พฤษภาคมนี้ โดยตั้งเป้าทำลายสถิติเดิม ด้วยการจำหน่ายผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน มะม่วง ลำไย มังคุด และผลไม้อื่นๆ สู่ผู้บริโภคชาวจีน
นายพิชัย กล่าวว่า การผลักดันการค้าออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์จีน ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลิตปีนี้ที่ผลผลิตมีคุณภาพสูงและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระทรวงฯ ได้จับมือกับพันธมิตรภาคเอกชนและแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการขาย ตลอดจนยกระดับภาพลักษณ์สินค้าเกษตรคุณภาพของไทยในตลาดโลก
“กระทรวงพาณิชย์จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และเดินหน้าผลักดันสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดโลก ทำให้เป็นปีทองของเกษตรกรไทย ผ่านการดำเนิน 7 มาตรการ 25 แผนงาน ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การตลาด การส่งออก ไปจนถึงการแปรรูปและอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อระบายผลไม้ 950,000 ตัน ในปีนี้ และรักษาเสถียรภาพด้านราคาในทุกมิติ” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับการส่งออกทุเรียนไปยังจีนในช่วงที่มีผลผลิตออกมามาก ตนได้พบหารือกับ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การส่งออกทุเรียนกันโดยตลอด ตนได้เน้นย้ำให้ทางการจีนผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อน พร้อมทั้งขอให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจผ่านด่าน เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ทางการจีนได้เปิดช่องทางพิเศษ (Green Lane) และขยายเวลาดำเนินการ รวมถึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ประจำการ 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระบวนการ ตรวจสอบทันทีที่ถึง และปล่อยทันทีที่ตรวจเสร็จ