(มีคลิป Video) เริ่มใช้จริงแล้ว! เทศบาลนครเชียงใหม่ จับมือ มช. ลงนาม MOU ติดเซนเซอร์จุดห้ามจอด ถ.นิมมานเหมินท์-ศิริมังคลาจารย์ 113 จุด พร้อมใช้งานแล้ว 52 จุด

4605

(มีคลิป Video) เทศบาลนครเชียงใหม่ จับมือ มช. ลงนาม MOU ติดเซนเซอร์จุดห้ามจอด ถ.นิมมานเหมินท์-ศิริมังคลาจารย์ 113 จุด ล่าสุดพร้อมใช้งาน 52 จุด ตั้งเป้าแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือน ก.พ. นี้ พร้อมต่อยอดพัฒนาระบบเชื่อมโยงกับกล้อง CCTV ในพื้นที่

     เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมเอื้องคำ อาคารสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดการแถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและระบบข้อมูลอัจฉริยะเพื่อรองรับการพัฒนา Smart City ภายใต้โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถสำหรับเมืองอัจฉริยะ (เซนเซอร์ตรวจจับจุดจอดรถ) โดยมี พลโทภาณุ โรจนวสุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในการร่วมกันลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ภายหลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาอุปกรณ์ Internet Of Things (loT) ที่ใช้กับระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมาประยุกต์ใช้กับการห้ามจอดตามแนว ขาว-แดง บริเวณทางเลี้ยว ทางแยก ควบคู่ไปกับการพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือที่สามารถตรวจสอบได้ถ้าหากมีการฝ่าฝืน

     โดยหน่วยงานทั้งสองได้ร่วมกันติดตั้งอุปกรณ์ต้นแบบ จำนวน 113 ชุด ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลนครเชียงใหม่ พื้นที่ย่านนิมานเหมินท์ ถึง ถนนศิริมังคลาจารย์ พร้อมทำการทดสอบระบบเพื่อส่งมอบให้กับทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ใช้งานต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ต้นแบบแล้วเสร็จไปจำนวน 52 จุด คิดเป็นร้อยละ 46 และจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบทั้ง 113 จุด ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะมีการพัฒนาระบบการนำข้อมูลจากอุปกรณ์ loT ข้างต้น มาบูรณาการกับภาพจากกล้อง CCTV เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถในย่านนิมานเหมินท์ ถึง ถนนศิริมังคลาจารย์ ต่อไป ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี

   ทั้งนี้ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจจับจุดจอดรถ เป็นอุปกรณ์ “pilot project” หรืออุปกรณ์ที่ได้มีการทดลองสร้างขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมานี้เป็น Internet Of Things ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลเข้าไปยังระบบ Internet เพื่อใช้ในการส่งผ่านข้อมูลไปยังจุดวิเคราะห์ที่เป็นข้อมูลมาใช้ในการประเมิน ดังนั้นอุปกรณ์ที่ดำเนินการติดตั้งจะเป็น Smart Device โดยมีการติดตั้งในจุดหลักทางร่วม ทางแยก โดยข้อมูลที่ถูกส่งมาจาก ทางร่วม ทางแยก จะสามารถบอกได้ว่าขณะนั้นมีรถมาจอดทับอุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่

     ซึ่งโดยปกติแล้วการใช้อุปกรณ์ Smart Device ปัจจัยที่จำเป็นจะต้องให้อุปกรณ์ดังกล่าวทำงานมีอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย ตัวจำนวนเนื่องจากในพื้นที่ไม่สามารถที่จะมีคนไปดูแลทุกจุดพร้อมกัน ขณะเดียวกันคือเรื่องของเวลา ที่ไม่สามารถจัดให้คนไปดูแลที่ทุกจุด และทุกเวลา ดังนั้นอุปกรณ์ดังกล่าวก็จะเป็นตัวทำหน้าที่แทน และปัจจัยที่เป็นความสำคัญคือความละเอียด รวมทั้งการส่งผ่านข้อมูลและการวิเคราะห์ เนื่องจากกระบวนการเหล่านี้สามารถลดระยะเวลาได้ หากสามารถให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่เป็น “pilot project” เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ไป และได้ข้อมูลมาแล้วก็จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ได้ และอาจจะสามารถนำไปต่อยอดผนวกกับระบบอื่นๆ หรือระบบกล้อง CCTV ได้

blank

     ขณะที่ทางด้าน พลโทภาณุ โรจนวสุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในการบริหารจัดการเมืองให้เป็น Smart City โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านนิมานเหมินท์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการจราจรในบริเวณ ย่านนิมานเหมินท์ ถึง ถนนศิริมังคลาจารย์ มีปัญหาด้านการจราจร และการติดขัดเป็นอย่างมาก รวมไปถึงขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกมาเป็นพื้นที่แรก และเป็นพื้นที่นำร่องในการทดลอง โดยในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปด้วย