อว. แนะสงกรานต์ใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน หลังตรวจพบกว่าร้อยละ 42.6 ปลอม เสี่ยงอันตราย ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ

68

10 เม.ย. 67 – นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชนที่จะสนุกสนานกับกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ จนอาจลืมนึกถึงความปลอดภัย ทั้งนี้ พบว่าหนึ่งในประเพณีนิยมนอกจากการสาดน้ำ คือการประแป้งด้วย “ดินสอพอง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคลายร้อนของไทย ทางกระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ดินสอพองที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน รมว.อว. จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. สำรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายในท้องตลาด และแนะนำวิธีการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นดินสอพองของแท้ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า “ดินสอพอง” เป็นหนึ่งในของใช้ที่อยู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ดินสอพองนับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการคลายร้อนและสร้างความสนุกสนาน นอกจากทำให้ร่างกายเย็นสบายแล้วการใช้ดินสอพองประหน้ายังสามารถป้องกันแดดได้ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่าดินสอพองที่ใช้นั้นเป็นของแท้ที่ผลิตจากดินมาร์ล หรือปูนมาร์ล (Marl) ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบหลัก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการสุ่มตรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด
4.4dd513c7038b6593d.jpeg

พบว่ายังมีดินสอพองปลอมถึงร้อยละ 42.6 ที่มียิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก แทนดินสอพองของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ลหรือแคลเซียมคาร์บอเนต โดยฝุ่นยิปซัมนี้ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้ หากสัมผัสกับผิวอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่นหรือเป็นลมพิษได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไวของผิวต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูหยดลงในดินสอพอง หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าเป็นดินสอพองแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ แสดงว่าเป็นดินสอพองปลอม

นอกจากนั้นห้องปฏิบัติการ วศ. ยังได้ตรวจพบว่าดินสอพองที่สุ่มมาจำนวนร้อยละ 48 มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ติดเชื้อได้ ในกรณีที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีแผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ

นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเน้นย้ำว่า ดินสอพองที่ขายในท้องตลาดมีเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่าเป็นดินสอพองของแท้ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมั่นใจว่าดินสอพองที่จะจำหน่ายให้ประชาชนต้องเป็นของแท้และมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น

4.33a8e44f1577b8f21.jpeg

วศ.อว.ขอให้ข้อแนะนำประชาชน ในการสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ หากเป็นแบบซองหรือแบบกระปุกพลาสติก ก็ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะอาด ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด พร้อมกับอย่าลืมตรวจสอบฉลากด้วยว่ามีส่วนประกอบ ชื่อแหล่งที่ผลิตและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือเครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)