สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” คืนวันแม่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2562 สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มองเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทยในที่มืดสนิท
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี มักมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม จึงได้รับสมญาว่าเป็น “ฝนดาวตกวันแม่” สำหรับปี 2562 ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ มีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากคืนดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวน ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 04:00 น. ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ที่สุดคือ ตั้งแต่ตี 4 จนถึงรุ่งเช้า ผู้สนใจชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ และมองเห็นได้ทั่วประเทศ
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบต่อโลก