พิษภัย “บุหรี่” ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากกว่า 70,000 คน/ปี พบกลุ่มเยาวชนและสตรีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

27

19 ก.พ. 67 – นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส 2567 “ปกป้องสุขภาพของคนไทยห่างไกลควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลก และทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึงปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 35 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 ซึ่งนับเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของทุกภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การควบคุมยาสูบของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่เย้ายวนใจให้กลุ่มเด็กและเยาวชนทดลองสูบ โดยจากการสำรวจล่าสุด ในปี 2566 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและสตรีเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2566 ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามมา ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การเข้าถึงกระบวนการเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยาเลิกบุหรี่มาตรฐานมีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ที่ได้จัดตั้งเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เป็น one stop service ให้บริการเลิกยาสูบโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ปัจจุบันมี 563 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และขณะนี้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาเลิกบุหรี่ที่ชื่อว่า Cytisine ได้แล้ว จึงนับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้าถึงยาชนิดนี้ต่อไป