สมอ. เตรียมประกาศเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม ภายในปี 2567-2568

631

26 ส.ค. 66 – สมอ. ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน เตรียมบังคับให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผมหรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมและกระทะทอด เครื่องปรับอากาศ ตู้น้ำร้อนน้ำเย็น สวิตซ์ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย ชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า ย้ำผู้ผลิต ผู้นำเข้า ต้องยื่นขออนุญาตทำ/นำเข้า ก่อนมีผลบังคับใช้

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการบังคับใช้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบัน สมอ. มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุมแล้ว จำนวน 143 รายการ และกำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567-2568 เพิ่มอีก 7 รายการ ได้แก่

1) เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว มอก.60335 เล่ม 2 (23) 2564 ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ เช่น หวีดัดผม ที่ม้วนผม ตัวเป่ามือ เครื่องอบผิวหน้า และเครื่องดูแลเท้า เป็นต้น โดยเพิ่มข้อกำหนดและการทดสอบจากมาตรฐานฉบับเดิม คือ การป้องกันการเกิดความร้อน การป้องกันการทำงานผิดปกติ และการแสดงเครื่องหมายและฉลาก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

2) เครื่องทอดน้ำมันท่วม ขนาดไม่เกิน 5 ลิตร และกระทะทอด มอก.60335 เล่ม 2 (13) 2564 ที่ใช้งานในที่พักอาศัย ไม่ครอบคลุมเครื่องทอดน้ำมันท่วมในเชิงพาณิชย์ ได้มีการเพิ่มข้อกำหนดและการทดสอบจากมาตรฐานฉบับเดิม โดยกำหนดขอบข่ายให้ครอบคลุมและจำแนกประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น และแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องหมายและฉลาก โดยยังคงข้อกำหนดสำคัญที่ควบคุมด้านความปลอดภัย เช่น การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินในขณะใช้งาน มีการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วในขณะที่เครื่องทอดทำงานอยู่ รวมไปถึงการป้องกันการสัมผัสกับส่วนที่มีไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

3) เครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน มอก.2134-2565 โดยมีการแก้ไขขอบข่ายจากมาตรฐานเดิมให้ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น คือ ระบุขีดความสามารถทำความเย็นทั้งหมดไม่เกิน 18000 วัตต์ แรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าเฟสเดียว แรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าหลายเฟส และครอบคลุมเครื่องปรับอากาศประเภทมีท่อส่งลมที่มีความสามารถทำความเย็นทั้งหมดน้อยกว่า 8000 วัตต์ ที่มีเจตนาให้ทำงานที่ความดันสถิตภายนอกน้อยกว่า 25 ปาสกาล เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมกราคม 2568

4) ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค เฉพาะด้านความปลอดภัย มอก.2461-25XX ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วและความทนทานไฟฟ้าที่อุณหภูมิทำงาน การป้องกันโหลดเกินของหม้อแปลงไฟฟ้าและวงจรที่เกี่ยวข้อง การทนความร้อนและไฟ และการป้องกันการเข้าถึงส่วนที่มีไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน IEC ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

5) สวิตซ์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย มอก.824 เล่ม 1-2562 ที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 440 โวลต์ สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งมีการแก้ไขจากมาตรฐานเดิม โดยกำหนดขอบข่ายให้ครอบคลุมกล่อง (box) สำหรับสวิตช์ไฟฟ้า และยังครอบคลุมสวิตช์ไฟฟ้าที่มีไฟนำรวมอยู่ (switch incorporating pilot light) สวิตช์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (electronic switch) สวิตช์ไฟฟ้าควบคุมระยะไกล (RCS) สวิตช์ไฟฟ้าหน่วงเวลา (TDS) (time-delay switch) สวิตช์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบสำหรับใช้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาคารบ้านเรือน และสวิตช์ไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (firemen’s switch) เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2567

6) ชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้า มอก.1436 เล่ม 3-2564สำหรับการใช้งานโดยบุคคลทั่วไป ครอบคลุมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าที่ใช้งานในที่อยู่อาศัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ ความคงทนของวัสดุและชิ้นส่วนประกอบ การป้องกันน้ำและฝุ่น การป้องกันไฟฟ้าช็อต การทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ความต่อเนื่องของวงจร และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก ขีดจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความทนการลัดวงจร และความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

7) มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ชนิดเหนี่ยวนำสามเฟส มอก.866 เล่ม 30 (101) -2561 ครอบคลุมมอเตอร์ไฟฟ้าสามเฟส โดยไม่รวมมอเตอร์ที่ประกอบมาในเครื่องจักร ซึ่งมีพิกัดกำลังไฟฟ้า 0.12-15 กิโลวัตต์ มีการแก้ไขข้อกำหนดที่สำคัญจากมาตรฐานฉบับเดิม คือ ให้อ้างอิงการแบ่งระดับชั้นประสิทธิภาพค่าพลังงานตามมาตรฐาน IEC ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2568

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ทำ และผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 รายการดังกล่าว จะต้องทำ นำเข้าสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย