“ฟีฟ่า” ออกโรงเตือนไทย หลังสัญญาณถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก” รั่วออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ขู่ตัดสัญญาณ ด้าน กกท.สั่งเร่งแก้ด่วนที่สุด

961

“ฟีฟ่า” ออกโรงเตือนไทย หลังสัญญาณถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก” รั่วออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ขู่ตัดสัญญาณ ด้าน กกท.สั่งเร่งแก้ด่วนที่สุด

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ส่งหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์แจ้งให้ดำเนินการเข้ารหัสสัญญาณให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า

ตามที่อ้างถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ขอความอนุเคราะห์คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ให้บริการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ อันประกอบด้วย ผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Carry (มัสต์ แคร์รี่) และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยเข้ารหัสสัญญาณ และดำเนินการทำ OTA ของกล่องเครื่องรับระบบโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น กกท. ได้รับแจ้งจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ว่า สัญญาณออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ยังคงแพร่กระจายไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น นอกเหนือลิขสิทธิ์ที่ได้รับตามข้อกำหนดของสหพันธ์

ทั้งนี้ สหพันธ์ ได้ขอให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขการเข้ารหัสสัญญาณ (Encryption) ที่ส่งผ่านดาวเทียมให้เป็นไปตามข้อกำหนด และมาตรฐานของสหพันธ์โดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณการออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่นตามที่สหพันธ์แจ้งมา

กกท. ใคร่ขอความอนุเคราะห์ และความร่วมมือจาก กสทช. ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Carry และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ให้ดำเนินการเข้ารหัส (Encryption) ในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามมาตรฐานของ FIFA ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ BISS CA Director หรือ Power/u

2.ในส่วนของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Carry และผู้ให้บริการกล่อง STB จะต้องเข้ารหัส โดยไม่ใช่การดำเนินการในลักษณะ BISS 1 Simultcrypt เหมือนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

3.ในกรณีที่ผู้ให้บริการใด ไม่สามารถเข้ารหัสให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สหพันธ์กำหนด มีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณที่จะส่งไปเผยแพร่ผ่านผู้บริการนั้น ซึ่งต้องดำเนินการในลักษณะส่งข้อความชี้แจงข้อกำหนดการเผยแพร่ตามข้อกำหนดลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยได้รับ (หรือตามที่ผู้รับชมทั่วไปจะเข้าใจในลักษณะการขึ้น “จอดำ”)

ในการนี้ ทางสหพันธ์ ได้กำชับให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ และดำเนินการเผยแพร่ในประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วนที่สุด หากไม่สามารถดำเนินการได้ ทางสหพันธ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งการดำเนินการของสหพันธ์ที่ร้ายแรงที่สุด คือ การตัดสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จะส่งมาเผยแพร่ในประเทศไทย อันจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอสโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ของประชาชนชาวไทย ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบการแข่งขัน

ทั้งนี้ กกท. เห็นว่า ทั้ง กกท. และ กสทช. มีความจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามที่สหพันธ์แจ้งเตือนมา จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และขอความอนุเคราะห์ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยด่วนที่สุดต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ กสทช. ได้รับหนังสือดังกล่าวจาก กกท. จึงได้เชิญฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประชุมอย่างเร่งด่วนผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00 น.

G1b82e.jpg
G1brgt.jpg