“พิพัฒน์” ปิ๊งไอเดีย เสนอมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานไทย “มีลูกเพิ่ม” ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร จาก 1,000 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 7 ปี

446

15 ต.ค. 67 – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวคิดการให้เงินสงเคราะห์บุตร ว่า การสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้เราให้ 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 ให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม(บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนตัวต้องการจะเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงาน ตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก

3.3

“ตัวผมเองมีแนวความคิดกับการที่จะเพิ่มประชากรให้กับประเทศไทยโดยคนไทย ขอเน้นย้ํานะครับว่าเฉพาะคนไทย เพราะผู้ใช้แรงงานปัจจุบันนี้มีความกังวลว่าเมื่อท่านคลอดบุตรออกมาแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะในสังคมเมือง เพราะการที่จะต้องส่งลูกหรือส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนหรือเข้าสถานศึกษามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ตัวผมเองมีแนวความคิดซึ่งฝากให้ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน นําเข้าไปหารือกับบอร์ดประกันสังคม ใครที่เป็นผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 เมื่อคุณมีบุตรเพิ่มขึ้น และไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัดเราจะให้ค่าสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปี”นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตรงนี้ประกันสังคมก็จะต้องควักเงินอีกก้อนใหญ่ใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความถาวร ให้กับแรงงานของประเทศไทยโดยการเพิ่มประชากรคนไทย ปัจจุบันนี้เรามีผู้ที่เกิดใหม่ กับผู้ที่เสียชีวิตไปไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าประกันสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกันตนว่าถ้าคุณสามารถกําเนิดบุตร เพิ่มขึ้นหนึ่งคนค่าเลี้ยงดูบุตรเราจะให้เพิ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า มาตรการนี้ คือแนวความคิดที่ตกผลึกว่าการที่จะสร้างให้ประเทศไทยเรามีการสร้างประชากรเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนที่สําคัญที่สุดและอยากจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานของประเทศไทย

ส่วนจะมีการกำหนดจำนวนบุตรไว้หรือไม่นั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประมาณการไม่ได้ แล้วแต่ผู้ประกันตน ถ้าใครอยู่ในมาตรา 33 เราให้เลย1 คน 2 คน 3 คน แล้วแต่

นายพิพัฒน์ ให้เหตุผลที่มาตรการนี้ต้องส่งบุตรไปเลี้ยงในชนบท ว่า สังคมชนบทจะได้เปรียบเพราะต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร ในชนบทถูกกว่าเพราะฉะนั้นอเราต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง คุณจะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก เพราะฉะนั้นเราพยายามรณรงค์ให้สังคมชนบทเข้ามาสู่เมืองโดยผ่าน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอยู่ทํางานในเมือง แต่ขอให้คุณมีบุตรและคุณนําบุตร ไปให้กับปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท คุณจะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที

นายพิพัฒ์ กล่าวว่า การเสนอนี้ เป็นเพียงแนวความคิด ซึ่งจะขายความคิดผ่านทางสื่อมวลชนเป็นเบื้องต้น และเพื่อจะนําเข้าสู่บอร์ดประกันสังคมต่อไป ส่วนตัวไม่มีอํานาจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปประชุมในบอร์ดประกันสังคม เป็นหน้าที่ประธานบอร์ด โดยปลัดกระทรวงแรงงาน จึงทําได้อย่างเดียวคือเอานโยบายฝากให้ท่านปลัดกระทรวง ไปหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่