เช็กเลย 2 ช่องทาง ขอรับเงินช่วยเหลือน้ำท่วม กรณีน้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน ไม่เกิน 30 วัน รับครัวเรือนละ 5,000 บาท

995

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 – นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการบริการประชาชนให้ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเร็วที่สุด

ช่องทางการยื่นขอรับเงินช่วยหลือ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ช่องทาง คือ

✅ ยื่นคำร้องด้วยตนเอง ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยประชาชนสามารถติดต่อดำเนินการ
ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
✅ ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th ซึ่งจะเปิดระบบให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

รับเงินช่วยเหลือ2

ประชาชนผู้ประสบภัยเตรียมเอกสารให้พร้อม ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น รวมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3

สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

(1) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
(2) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท
(3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

ในส่วนของการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้

(1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
(2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

รับเงินช่วยเหลือ3

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนอกจากเงินเยียวยาจากรัฐบาล (5,000 / 7,000 / 9,000 บาท) ที่ผู้ประสบภัยจะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ยังมีในส่วนของเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นเงินในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเร่งด่วน ไม่ได้เป็นการชดใช้ความเสียหายทั้งหมด อาทิการให้ความช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิต จะจ่ายเป็นเงินค่าจัดการศพรายละไม่เกิน 29,700 บาท หากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวจ่ายเงินสงเคราะห์เพิ่มอีกไม่เกิน 29,700 บาท ส่วนกรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจะช่วยเหลือเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำหลังละไม่เกิน 49,500 บาท และค่าเครื่องมือประกอบอาชีพครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท เป็นต้น ซึ่งมีจังหวัดที่ได้ขยายวงเงินทดรองราชการฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดละ 100 ล้านบาท

รวบรวมข้อมูลจาก : รมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)