ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎกระทรวง เกณฑ์ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ นอกเหนือจากวิธีเป่าวัด

336

21 ก.ย. 67 – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่ พ.ศ.2567 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และมาตรา 142 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ให้ยกเลิก กฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) และกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

ข้อ 2. การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่โดยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจด้วยเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจ(BREATH ANALYZER TEST) และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยวิธีการทดสอบให้ปฏิบัติตามวิธีการตรวจสอบของเครื่องตรวจแต่ละชนิด

ข้อ 3. ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบผู้ขับขี่โดยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจได้ ให้ตรวจวัด ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจวัดจากปัสสาวะ
(2) ตรวจวัดจากเลือด
การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ ก่อนจึงจะดำเนินการได้

ข้อ 4. การทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากปัสสาวะตามข้อ 3 (1) ให้ทดดสอบจากตัวอย่าง ปัสสาวะของผู้ขับขี่ โดยในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีภาชนะที่เหมาะสมสำหรับเก็บตัวอย่างปัสสาวะพร้อมฝาปิดให้แก่ผู้ขับขี่
(2) จัดให้ผู้ขับขี่ขับถ่ายปัสสาวะในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว โดยมีการควบคุมการเก็บตัวอย่างเพื่อป้องกันมิให้มีการสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลง
(3) จัดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างปัสสาวะบนฉลากของภาชนะตาม (1) และมีการปิดผนึกภาชนะดังกล่าวด้วย โดยให้ผู้ขับขี่ลงลายมือชื่อกำกับบนฉลากนั้น

เมื่อได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ขับขี่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หัวหน้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจร แล้วแต่กรณี ส่งตัวอย่างปัสสาวะไปยังโรงพยาบาลหรือ สถานที่ และภายในระยะเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทางเคมี ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในตัวอย่างปัสสาวะดังกล่าว ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม

ข้อ 5. การทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากเลือดตามข้อ 3 (2) ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจร แล้วแต่กรณี ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดภายในระยะเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธีทางการแพทย์ ซึ่งต้องไม่เป็นอันตรายอย่างอื่นต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น ทั้งนี้ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม

ข้อ 6. ในกรณีที่ผลการพดลอบปรากฎว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายดังต่อไป ให้ถือว่าเมาสุรา
(1) ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่ในกรณี ดังต่อไปนี้
(ก) ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
(ข) ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(ค) ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้
(ง) ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
(2) ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่ซึ่งมิใช่ผู้ขับขี่ ตาม (1)

ข้อ 7 ในการตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ให้เทียบผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในร่างกายที่ได้รับจากเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจหรือผลทดสอบทางเคมีจากการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในตัวอย่างปัสสาวะ แล้วแต่กรณีโดยใช้ปริมาณแอลกออล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000
(ข) กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3

ให้ไว้ ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567